ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 2 ม. มีรากสะสมอาหารขนาดใหญ่ หนาได้ถึง 5 ซม. ส่วนต่าง ๆ มีขนสั้นนุ่มหรือขนหยาบยาว หูใบรูปเส้นด้าย ยาวได้ถึง 1 ซม. ใบที่โคนรูปไข่ ใบช่วงกลางและปลายลำต้นรูปลูกศรหรือรูปฝ่ามือ 3–5 พู พูรูปไข่ รูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปแถบ ปลายแหลมหรือมน ยาว 3–10 ซม. โคนแฉกลึก ขอบจักฟันเลื่อย ปลายจักส่วนมากมน ก้านใบยาว 4–8 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกยาว 4–7 ซม. ริ้วประดับมี 6–12 อัน รูปเส้นด้ายบานออก ยาวประมาณ 1.5 ซม. กลีบเลี้ยงยาว 0.7–1.5 ซม. ด้านนอกมีขนละเอียด ดอกสีเหลืองนวล ขาว ชมพู หรือชมพูอมแดง ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 5–6 ซม. กลีบรูปไข่กลับ ยาว 2.5–3 ซม. เส้าเกสรยาวประมาณ 2 ซม. เกลี้ยง เกสรเพศผู้ติดตลอดความยาว รังไข่มีขน ผลรูปไข่ ยาวได้ถึง 3 ซม. มีริ้วเป็นสันตามยาว เมล็ดรูปคล้ายไต มีต่อมกระจายตามเส้นร่างแห (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ กระเจี๊ยบมอญ, สกุล)
พบที่อินเดีย จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลียตอนบน ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าดิบชื้น หรือบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร และเป็นไม้ประดับ มีความผันแปรสูงทั้งรูปร่างของใบและสีของดอก
|
ชื่อพ้อง Hibiscus sagittifolius Kurz, Abelmoschus moschatus Medik. subsp. tuberosus (Span.) Borss. Waalk.
|
|
ชื่อสามัญ Musk mallow, Native rosella
|
ชื่ออื่น ข้าวต้มเล็ก (นครสวรรค์); จีจ้อ, มหาก่าแดง (ภาคเหนือ); โสมชบา (กรุงเทพฯ); เหง้ามหากาฬ (เพชรบูรณ์)
|
|
โสมชบา: ส่วนต่าง ๆ มีขนสั้นนุ่มหรือขนหยาบยาว แผ่นใบรูปลูกศร ดอกออกเดี่ยว ๆ ริ้วประดับมี 6–12 อัน รูปเส้นด้าย ผลแห้งแตก เมล็ดรูปคล้ายไต (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)
|
|