สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

โสก

โสก  สกุล
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Saraca L.

Fabaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น หูใบขนาดเล็กเชื่อมติดกัน ร่วงเร็ว หรือไม่มีหูใบ ใบประกอบชั้นเดียว เรียงเวียน ใบย่อยเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบ ปลายกิ่ง หรือตามลำต้น ดอกสมบูรณ์เพศหรือมีเพศเดียว ฐานดอกเป็นหลอด ใบประดับ 1 อัน ใบประดับย่อย 2 อัน กลีบเลี้ยงคล้ายกลีบดอก มี 4 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 3–10 อัน แยกกัน ติดบนจานฐานดอก อับเรณูติดด้านหลัง แตกตามยาว รังไข่มีก้านแนบติดหลอดกลีบเลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลเป็นฝักแข็ง แบน เมล็ดแบน รูปรี เปลือกบาง

สกุล Saraca อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Caesalpinioideae เผ่า Detarieae มีประมาณ 10 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 3 ชนิด ชื่อสกุลอาจมาจากภาษาอินเดีย “asoka” และภาษาสันสกฤต “sara” สีสัน หมายถึงต้นไม้มีสีสดใส


โสก
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Saraca indica L.

Fabaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. แกนกลางใบประกอบยาว 10–50 ซม. ใบย่อยมี 1–7 คู่ รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก ยาว 5–30 ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนรูปลิ่ม กลม หรือเว้าตื้น เส้นแขนงใบข้างละ 15–20 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3–5 มม. ช่อดอกยาว 3–15 ซม. กว้างประมาณ 10–20 ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยรูปไข่ ยาว 2–8 มม. สีเดียวกับกลีบเลี้ยง ใบประดับย่อยติดประมาณกึ่งกลางก้านดอก ติดทนหรือร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 1–2.5 ซม. ฐานดอกยาว 0.7–1.6 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่แกมรูปรี ยาว 0.5–1.2 ซม. สีส้มอมเหลือง เกสรเพศผู้มี 6–8 อัน รังไข่มีขนตามขอบ ฝักแบน รูปไข่ หรือรูปรีแกมขอบขนาน ยาว 6–25 ซม. ปลายมีจะงอยสั้น ๆ ก้านฝักยาวประมาณ 0.5 ซม. ส่วนมากมี 4–6 เมล็ด

พบในภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และชวา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 900 เมตร คล้ายกับ S. asoca (Roxb.) W.J.de Wilde ของอินเดีย ที่ใบประดับย่อยโอบรอบก้านดอก ติดทน ทั้งสองชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

ชื่อสามัญ  Ashoka, Sorrowless tree

ชื่ออื่น   กาแปะห์ไอย์ (มาเลย์-ยะลา); ชุมแสงน้ำ (ยะลา); ตะโดลีเต๊าะ (มาเลย์-ปัตตานี); ส้มสุก (ภาคเหนือ); โสก (ภาคกลาง); โสกน้ำ (สุราษฎร์ธานี)

โสก: ใบประกอบ ก้านใบย่อยสั้น ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ใบประดับย่อยติดประมาณกึ่งกลางก้านดอก กลีบเลี้ยงสีส้มอมเหลือง ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 6–8 อัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โสกเขา
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Saraca declinata (Jack) Miq.

Fabaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. แกนกลางใบประกอบยาว 10–50 ซม. ใบย่อยมี 3–7 คู่ รูปไข่หรือรูปใบหอก ยาว 8–30 ซม. ปลายแหลมหรือกลม โคนรูปลิ่มหรือกลม เส้นแขนงใบข้างละ 8–10 เส้น ก้านใบย่อยยาว 0.3–1 ซม. ช่อดอกกว้าง 15–30 ซม. ใบประดับขนาดเล็กกว่าใบประดับย่อย รูปไข่ ปลายแหลม ยาว 0.3–1.8 ซม. ติดทน สีเดียวกับกลีบเลี้ยง ก้านดอกยาว 2–3 ซม. ฐานดอกยาว 1–3 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่หรือไข่กลับ ยาว 0.5–1.5 ซม. สีแดงหรือชมพู เกสรเพศผู้ 3–5 อัน รังไข่มีขนตามขอบ ฝักแบน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 10–30 ซม. ปลายโค้ง มีจะงอยยาวประมาณ 1 ซม. มี 6–8 เมล็ด ก้านยาว 1.5–2 ซม.

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา ชวา และหมู่เกาะซุนดาน้อย ในไทยพบทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามริมลำธารหรือที่ลาดชันในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร คล้ายกับโสก S. indica L. แต่จำนวนเกสรเพศผู้มีน้อยกว่า

ชื่อพ้อง  Jonesia declinata Jack, Saraca cauliflora Baker

ชื่ออื่น   กาแป๊ะบาซะ, กาแป๊ะบูเก๊ะ, บูกอเลา (มาเลย์-ยะลา); เข็มแดง (หนองคาย); ชุมแสงควน (ยะลา); โดละ (มาเลย์-นราธิวาส); ตะบือกะ (มาเลย์-ปัตตานี); โรก (กาญจนบุรี); สมโสก (นครราชสีมา, ตราด); สาย (สตูล); โสกเขา (ภาคใต้); โสกดอน (ตรัง)

โสกเขา: ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ใบประดับส่วนมากขนาดเล็กกว่าใบประดับย่อย ติดทน กลีบเลี้ยงสีชมพู เกสรเพศผู้ 3–5 อัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โสกเหลือง
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Saraca thaipingensis Cantley ex Prain

Fabaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. แกนใบประกอบยาว 20–75 ซม. ใบย่อยมี 4–8 คู่ รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาว 7–32 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือกลม ก้านใบย่อยยาว 1–1.5 ซม. ช่อดอกมักออกตามกิ่ง กว้าง 15–35 ซม. ใบประดับขนาดใหญ่กว่าใบประดับย่อย รูปไข่ ยาว 1–3.5 ซม. ร่วงเร็ว ใบประดับย่อยรูปใบหอก ยาว 0.6–1.7 ซม. ร่วงเร็ว ก้านดอกยาวประมาณ 1 ซม. ฐานดอกยาว 1–2.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 0.5–1 ซม. สีเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีเข้ม เกสรเพศผู้ 3–7 อัน รังไข่มีขน ฝักรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาว 15–40 ซม. โค้งทั้งสองด้าน ปลายมีจะงอย ยาวประมาณ 1.5 ซม. มี 6–8 เมล็ด เมล็ดรูปรี ยาวประมาณ 3.5 ซม.

พบที่พม่าตอนใต้ คาบสมุทรมลายู และชวา ในไทยพบทางภาคใต้ที่ภูเก็ต ตรัง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร เปลือกมีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ

ชื่อสามัญ  Yellow ashok tree, Yellow Saraca

ชื่ออื่น   ศรียะลา, โสกเหลือง (กรุงเทพฯ); อโศกเหลือง, อโศกใหญ่ (ภาคใต้)

โสกเหลือง: ช่อดอกออกตามกิ่งหรือลำต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น กลีบเลี้ยงคล้ายกลีบดอก มี 4 กลีบ ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 3–7 อัน ฝักโค้งทั้งสองด้าน ปลายมีจะงอย (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

โสกดอน
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Saraca declinata (Jack) Miq.

Fabaceae

ดูที่ โสกเขา

โสกน้ำ
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Saraca indica L.

Fabaceae

ดูที่ โสก

โสกสาย
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Amherstia nobilis Wall.

Fabaceae

ดูที่ โสกระย้า



เอกสารอ้างอิง

Ding Hou, K. Larsen and S.S. Larsen. (1996). Caesalpiniaceae (Leguminosae-Caesalpinioideae) (Saraca). In Flora Malesiana Vol. 12: 660–673.

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 94–98.