ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. กิ่งมีช่องอากาศ กิ่งอ่อนมีขนรูปดาวสั้นนุ่มประปราย ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 6–20 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนกลมหรือเว้าตื้น เบี้ยวเล็กน้อย ก้านใบยาว 5–6.5 ซม. โคนและปลายก้านบวม ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นแยกแขนงสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง กว้าง 10–15 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 8–10 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาว 5–8 มม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบตื้น ๆ รูปไข่ ปลายแหลม ดอกสีขาวอมชมพู มี 5 กลีบ รูปใบพาย ยาว 1–2.5 ซม. มีก้านสั้น ๆ เกสรเพศผู้ 15 อัน แยกเป็น 5 กลุ่ม ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดก้านรังไข่เป็นเส้าเกสร บานออกโอบรังไข่ ยาว 1.2–3.5 ซม. อับเรณูไร้ก้าน รังไข่มี 5 ช่อง มีขนหนาแน่น แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรจัก 5 พู เหนียว ผลแห้งแตก รูปไข่กลับ เปลือกแข็ง ยาว 2.5–5 ซม. มีห้าเหลี่ยม มีขนรูปดาวสั้นนุ่ม เมล็ดยาวประมาณ 2.5 ซม. รวมปีก
พบที่จีนตอนใต้ และพม่า ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย ภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ปราจีนบุรี และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี เพชรบุรี ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร ส่วน var. pubescens พบที่ภูเมี่ยง จังหวัดพิษณุโลก แผ่นใบด้านล่างมีขนหนาแน่น มีนวล ช่อดอกแคบกว่า กลีบดอกด้านนอกมีขน
สกุล Reevesia Lindl. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Sterculiaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Helicteroideae มีประมาณ 25 ชนิด พบในอเมริกากลางและเอเชีย ส่วนมากพบในจีน ชื่อสกุลตั้งตามนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ John Reeves (1774–1856)
|