สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

โมก

โมก  สกุล
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia R.Br.

Apocynaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น น้ำยางสีขาว มักมีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง และช่อดอก กิ่งแก่ส่วนมากมีช่องอากาศ ใบเรียงตรงข้าม ปลายส่วนมากแหลมยาว ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง กลีบดอกและกลีบเลี้ยงอย่างละ 5 กลีบ โคนกลีบเลี้ยงด้านในมีเกล็ดต่อมส่วนมากแผ่กว้าง ดอกรูปดอกเข็มหรือรูปกรวย กลีบเรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก แผ่นกลีบส่วนมากมีปุ่มขนกระจาย ส่วนมากมีกะบัง แยกเป็นกะบังหน้ากลีบดอก (antepetalous) ที่มักเชื่อมติดกลีบดอก กะบังระหว่างกลีบดอก (alternipetalous) หรือมีกะบังย่อยอยู่ระหว่างกะบังทั้ง 2 ชั้น (alternate corona lobes) ที่ส่วนมากออกเดี่ยว ๆ ขนาดเล็ก เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดบนปากหลอดหรือภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปหัวลูกศร ส่วนมากมีขนสั้นนุ่ม แนบติดยอดเกสรเพศเมีย ไม่มีจานฐานดอก รังไข่มี 2 คาร์เพล แยกกันหรือติดกันเรียวยาวเป็นก้านเกสรเพศเมีย ออวุลจำนวนมาก ผลเป็นฝักคู่ รูปกระสวย ติดกันหรือแยกกัน เมล็ดรูปแถบ ที่โคนมีกระจุกขน ชี้เข้าหาโคนฝัก

สกุล Wrightia มีประมาณ 24 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย

ในไทยมีประมาณ 15 ชนิด และเป็นไม้ต่างถิ่นประดับหนึ่งชนิด คือ พุดพิชญา W. antidysenterica (L.) R.Br. ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ William Wright (1735–1819)


โมก
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia pubescens R.Br.

Apocynaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. ใบรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ยาว 3–12 ซม. ก้านใบยาว 3–8 มม. ช่อดอกยาว 4–7.5 ซม. ก้านดอกยาว 0.4–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 1–5 มม. ดอกสีครีมหรืออมชมพูอ่อน มีกลิ่นหอม หลอดกลีบยาว 3–7 มม. กลีบรูปขอบขนาน ยาว 0.8–2.7 ซม. กะบัง 2 ชั้น มีขนสั้นนุ่ม กะบังหน้ากลีบดอกแนบติดกลีบดอกประมาณกึ่งหนึ่ง จักลึก กะบังระหว่างกลีบดอกรูปแถบ สั้นกว่าเล็กน้อย ปลายแยก 2 แฉก อับเรณูยาว 7–9 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.8–1 ซม. รวมยอดเกสร ผลเรียงติดกัน แยกกันเมื่อแตก ผิวไม่มีช่องอากาศ มีขนละเอียด ยาว 10–38 ซม. เมล็ดยาว 1–1.6 ซม. กระจุกขนยาว 1–4 ซม.

พบที่จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร คล้ายกับโมกมัน W. arborea (Dennst.) Mabb. ที่ฝักมีช่องอากาศชัดเจน และดอกไม่มีกลิ่นหอม สารสกัดจากรากและเปลือกใช้รักษาวัณโรคต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ

ชื่ออื่น   มูก (ภาคกลาง); มูกเกื้อ (จันทบุรี); โมก, โมกมัน (ทั่วไป)

โมก: กะบัง 2 ชั้น มีขนสั้นนุ่ม กะบังหน้ากลีบดอกแนบติดกลีบดอกกึ่งหนึ่ง จักลึก กะบังระหว่างกลีบดอกปลายแยก 2 แฉก ผลติดกัน ผิวไม่มีช่องอากาศ เมล็ดมีกระจุกขน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

โมกเขา
วันที่ 28 เมษายน 2560

Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don

Apocynaceae

ดูที่ โมกใหญ่

โมกเขา
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia lanceolata Kerr

Apocynaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ประมาณ 5 ม. ใบรูปไข่ รูปใบหอก หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 3–10 ซม. ก้านใบยาว 3–5 มม. ช่อดอกยาว 2–4 ซม. ก้านดอก ยาว 3–7 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 1–3 มม. มีขนครุย ดอกสีแดงอมส้ม หลอดกลีบยาว 3–6 มม. กลีบรูปขอบขนาน ยาว 1–1.7 ซม. กะบังชั้นเดียว แนบติดกลีบดอก ยาว 3–4 มม. ปลายจักมนหรือแหลมไม่เป็นระเบียบ อับเรณูยาว 7–9 มม. รังไข่มีขนละเอียด ก้านเกสรเพศเมียยาว 5–6 มม. รวมยอดเกสร ผลแยกกัน มีขนละเอียดกระจาย ไม่มีช่องอากาศ ยาว 10–15 ซม. เมล็ดยาวประมาณ 1 ซม. กระจุกขนยาวประมาณ 2 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่สามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นตามเขาหินปูนเตี้ย ๆ ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร

โมกเขา: ปลายใบแหลมยาว ดอกสีแดงอมส้ม กลีบรูปขอบขนาน กะบังชั้นเดียว แนบติดกลีบดอก ปลายจักมนหรือแหลม ผลแยกกัน มีขนละเอียด ไม่มีช่องอากาศ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โมกเหลือง
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia viridiflora Kerr

Apocynaceae

ไม้พุ่ม อาจสูงได้ถึง 5 ม. ใบรูปรี ยาว 3–15 ซม. แผ่นใบเกลี้ยง ก้านใบยาว 2–6 มม. ช่อดอกยาว 1–4 ซม. ก้านดอกยาว 0.5–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ขนาดเล็ก ดอกสีเหลืองหรืออมเขียว หลอดกลีบดอกยาว 1–2 มม. กลีบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 4–8 มม. กะบัง 3 ชั้น กะบังหน้ากลีบดอกเชื่อมติดโคนกลีบดอก ปลายจักชายครุย ยาว 2.3–4.4 มม. กะบังระหว่างกลีบดอกปลายแยก 2 แฉก ยาว 1.5–3 มม. กะบังย่อย ยาว 0.8–1.5 มม. เกสรเพศผู้ติดบนปากหลอดกลีบดอก อับเรณูยาว 0.6–1 ซม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–3.3 มม. รวมยอดเกสร ผลกางออก เกลี้ยง มีช่องอากาศประปราย ยาว 16–20 ซม. เมล็ดยาวประมาณ 2.5 ซม. กระจุกขนยาวประมาณ 2 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ตาก นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย ภาคกลางที่ราชบุรี สระบุรี และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามหุบเขาหินปูนที่ค่อนข้างชุ่มชื้น ความสูง 100–800 เมตร คล้ายกับโมกเหลืองหอม W. laevis Hook.f. ที่กะบังหน้ากลีบดอกและกะบังระหว่างกลีบดอกยาวเท่า ๆ กัน และดอกมีกลิ่นหอม เขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบที่จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ถึงออสเตรเลียตอนบน ในไทยพบทางภาคใต้ตามเขาหินปูนเตี้ย ๆ ที่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพังงา

โมกเหลือง: ดอกสีเหลือง กะบัง 3 ชั้น ยาวไม่เท่ากัน ปลายจักชายครุย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โมกเหลืองหอม
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia laevis Hook.f.

Apocynaceae

ดูที่ โมกเหลือง

โมกแดง
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia dubia (Sims) Spreng.

Apocynaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 ม. ใบรูปรี รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ยาว 3.5–25 ซม. แผ่นใบมีจุดโปร่งแสงทั่วไป ก้านใบยาว 0.2–1 ซม. ช่อดอกยาว 2.5–4 ซม. ก้านดอกยาว 4–6 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 1–3 มม. ดอกสีชมพู แดง หรือขาว ดอกบานรูปกรวย หลอดกลีบดอกยาว 0.5–1.5 ซม. กลีบรูปไข่ ยาว 1–2.5 ซม. ปลายแหลมยาวหรือมน กะบัง 2 ชั้น กะบังหน้ากลีบดอกแนบติดกลีบดอก ยาว 1.5–4 ซม. กะบังระหว่างกลีบดอกสั้นกว่า เกสรเพศผู้ติดประมาณกึ่งกลางหลอดกลีบดอก อับเรณูยาว 5–6 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–5 มม. รวมยอดเกสร ผลปลายเชื่อมติดกันแล้วกางออก เกลี้ยง ไม่มีช่องอากาศ ยาว 13–30 ซม. เมล็ดยาว 1.5–2.5 ซม. ขนกระจุกยาว 2.5–5.5 ซม.

พบที่กัมพูชา เวียดนาม และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่นครพนม ภาตตะวันออกเฉียงใต้ที่จันทบุรี พบทั่วไปทางภาคใต้ และเป็นไม้ประดับ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร

ชื่อพ้อง  Cameraria dubia Sims

ชื่ออื่น   มุ, มูก (ตรัง); มูกมัน (ภูเก็ต); โมกแดง (ภาคใต้); โมกป่า (จันทบุรี)

โมกแดง: ดอกสีแดงหรือขาว ดอกบานรูปกรวย ปลายกลีบแหลมยาว กะบังเรียง 2 ชั้น กะบังบนกลีบดอกแนบติดกลีบดอก ผลกางออก เกลี้ยง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

โมกใบบาง
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia lecomtei Pit.

Apocynaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 5 ม. ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 2.5–15 ซม. แผ่นใบบาง ก้านใบยาว 2–5 มม. ช่อดอกยาว 3–7 ซม. มีได้ถึง 10 ดอก ก้านดอกยาว 1–1.6 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 1.5–2 มม. โคนมีต่อมขนาดเล็กเรียวแคบ ดอกสีขาวนวลหรืออมเหลือง หลอดกลีบดอกยาว 5–6 มม. กลีบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาว 1–1.5 ซม. กะบังชั้นเดียว ติดระหว่างกลีบดอก ปลายเป็นติ่งยาวประมาณ 1 มม. เกสรเพศผู้ติดที่ปากหลอดกลีบดอก อับเรณูยาวประมาณ 6 มม. มีขนสั้นนุ่ม รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 8.5 มม. รวมยอดเกสร

พบที่กัมพูชา ในไทยพบทางภาคกลางตอนล่างที่นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่จันทบุรี และภาคใต้ที่พัทลุง ขึ้นตามป่าดิบชื้นหรือป่าดิบแล้ง ความสูงระดับต่ำ ๆ เป็นไม้ประดับ คล้ายกับโมกชมพูและโมกน้ำผึ้ง Wrightia spp. ที่เป็นไม้ประดับ ซึ่งอาจเป็นลูกผสม มีกะบังชั้นเดียว อับเรณูมีขน แต่ใบค่อนข้างเกลี้ยงและขนาดเล็กกว่าโมกใบบาง

โมกใบบาง: แผ่นใบมีขนสั้นนุ่ม กะบังชั้นเดียว ติดระหว่างกลีบดอก ปลายเป็นติ่ง ยาวประมาณ 1 มม. อับเรณูมีขนสั้นนุ่ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โมกการะเกตุ
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia karaketii D.J.Middleton

Apocynaceae

ไม้พุ่ม อาจสูงได้ถึง 10 ม. ใบรูปรี ยาว 9–21 ซม. ปลายบางครั้งมนหรือเว้าตื้น ก้านใบยาวประมาณ 1 ซม. ก้านช่อดอกยาว 0.8–2.3 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 3.7–5.5 มม. ดอกสีแดง โคนกลีบด้านนอกสีเขียว หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2 มม. กลีบรูปไข่กลับ ยาว 1.7–2 ซม. กะบังชั้นเดียว เชื่อมติดกันเป็นวงแนบติดโคนกลีบดอก ประมาณ 4.5 มม. ปลายจักชายครุย ยาว 1.2–1.5 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 6 มม. รวมยอดเกสร ผลกางออก ยาว 30–40 ซม. เกลี้ยง มีช่องอากาศหนาแน่น เมล็ดยาวประมาณ 1.7 ซม. กระจุกขนยาวประมาณ 3 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ขึ้นตามเขาหินปูนเตี้ย ๆ ในป่าเบญจพรรณ ความสูงประมาณ 750 เมตร คล้ายโมกเขา W. lanceolata Kerr และโมกสยาม W. siamensis D.J.Middleton แต่ใบขนาดใหญ่กว่า หลอดกลีบดอกสั้นกว่า และกะบังแฉกมากกว่า คำระบุชนิดตั้งตามชื่อนายปรีชา การะเกตุ ข้าราชการหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ร่วมเก็บตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ

โมกการะเกตุ: ดอกสีแดง กะบังชั้นเดียว เชื่อมติดกันเป็นวงแนบติดกลีบดอกที่โคน ปลายจักชายครุย ผลกางออก เกลี้ยง มีช่องอากาศหนาแน่น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)

โมกซ้อน
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia religiosa Benth. ex Kurz

Apocynaceae

ดูที่ โมกบ้าน

โมกทุ่ง
วันที่ 28 เมษายน 2560

Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don

Apocynaceae

ดูที่ โมกใหญ่

โมกนเรศวร
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia poomae D.J.Middleton

Apocynaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. ใบรูปไข่หรือรูปรี ยาว 2.3–12 ซม. ปลายยาวคล้ายหาง ก้านใบยาว 2–5 มม. ก้านช่อดอกยาว 0.4–1 ซม. ก้านดอกยาว 2.5–7 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง กว้าง 5.8–6.5 มม. ยาว 4.2–4.5 มม. ปลายมน ไม่มีต่อมที่โคนกลีบ ดอกสีส้มอมเหลืองหรืออมแดง หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2.7 มม. ด้านในมีปุ่มกระจาย กลีบรูปรี ยาวได้ถึง 2 ซม. ปลายตัด กะบัง 3 ชั้น กะบังหน้ากลีบดอกยาวประมาณ 6.5 มม. โคนเชื่อมติดกลีบดอก ปลายจักชายครุย กะบังระหว่างกลีบดอกยาวประมาณ 5 มม. ปลายแยก 2 แฉก กะบังย่อยยาวประมาณ 1.7 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 7 มม. รวมยอดเกสร ผลเรียงติดกัน แห้งแยกกัน มีช่องอากาศหนาแน่น แต่ละฝักกว้างประมาณ 1.5 ซม. ยาว 13–15 ซม. เมล็ดยาวประมาณ 1.5 ซม. กระจุกขนยาว 3–3.5 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก จังหวัดตาก ขึ้นตามสันเขาในป่าเบญจพรรณ ความสูง 700–900 เมตร คล้ายโมก W. pubescens R.Br. ที่มีกะบัง 2 ชั้น และผลเชื่อมติดกัน และ W. kwangtungensis Tsiang พบในจีนและเวียดนาม มีกะบัง 3 ชั้น แต่กลีบเลี้ยงขนาดเล็กกว่า มีต่อมที่โคน กลีบดอกยาวกว่า คำระบุชนิดตั้งตามชื่อดร.ราชันย์ ภู่มา นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ร่วมเก็บตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ

โมกนเรศวร: ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง ปลายมน กลีบดอกปลายตัด กะบัง 3 ชั้น (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

โมกน้อย
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia arborea (Dennst.) Mabb.

Apocynaceae

ดูที่ โมกมัน

โมกบ้าน
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia religiosa Benth. ex Kurz

Apocynaceae

ไม้พุ่ม อาจสูงได้ถึง 5 ม. ใบบาง รูปรี ยาว 2–8 ซม. ก้านใบยาว 1–4 มม. ช่อดอกห้อยลง ยาว 1.5–5 ซม. ก้านดอกยาว 0.8–3 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 1–3 มม. ต่อมโคนกลีบขนาดเล็ก ดอกสีขาว หลอดกลีบดอกยาว 2–4 มม. กลีบรูปไข่กลับ ยาว 0.5–1 ซม. ไม่มีกะบัง เกสรเพศผู้ติดบนปากหลอดกลีบดอก อับเรณูยาวประมาณ 4 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 6–8 มม. รวมยอดเกสร ผลแยกกัน ยาวได้ถึง 30 ซม. เมล็ดยาวได้ถึง 2 ซม. ขนกระจุกยาว 3.5–4 ซม.

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ขึ้นตามชายป่า ใกล้ลำธาร ความสูงไม่เกิน 100 เมตร ส่วนมากพบเป็นไม้ประดับ มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน หรือใบด่าง

ชื่อสามัญ  Water jasmine, Wild water plum

ชื่ออื่น   ปิดจงวา (เขมร-สุรินทร์); โมกซ้อน, โมกบ้าน (ภาคกลาง); หลักป่า (ระยอง)

โมกบ้าน: ช่อดอกห้อยลง ดอกขนาดเล็ก ไม่มีกะบัง มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โมกป่า
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia dubia (Sims) Spreng.

Apocynaceae

ดูที่ โมกแดง

โมกพะวอ
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia tokiae D.J.Middleton

Apocynaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. ใบรูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน ยาว 5.3–21 ซม. ก้านใบยาว 4–6 มม. ก้านช่อดอกยาว 0.6–1.1 ซม. ก้านดอกยาว 3–5 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง ยาว 3.5–4.2 มม. ไม่มีต่อมโคนกลีบ ดอกสีเขียวอมเหลือง เปลี่ยนเป็นสีแดงก่อนร่วง หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2.5 มม. มีปุ่มกระจายด้านใน กลีบรูปรีกว้าง ยาวประมาณ 1.3 ซม. ปลายมน ขอบยกขึ้น กะบังชั้นเดียว สีเหลืองติดกันเป็นวงคล้ายรูปถ้วย แนบติดกลีบดอกประมาณ 5 มม. ด้านนอกมีปุ่มกระจาย ขอบจักซี่ฟัน รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5.5 มม. รวมยอดเกสร ผลรูปกระสวย เรียงชิดปลายเชื่อมติดกัน มีช่องอากาศหนาแน่น แต่ละฝักกว้าง 1.3–1.5 ซม. ยาวประมาณ 13.5 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่พะวอ จังหวัดตาก ขึ้นบนเขาหินปูนในป่าเบญจพรรณ ความสูงประมาณ 700 เมตร คำระบุชนิดตั้งตามชื่อน.ส.นันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน (ต๊อก) นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ร่วมเก็บตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ

โมกพะวอ: ดอกสีเขียวอมเหลือง กะบังติดกันเป็นวงคล้ายรูปถ้วย ขอบจักซี่ฟัน รังไข่เกลี้ยง ผลเรียงชิดปลายเชื่อมติดกัน มีช่องอากาศหนาแน่น (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

โมกมัน
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia arborea (Dennst.) Mabb.

Apocynaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. ใบรูปรี ยาว 3–18 ซม. ก้านใบยาว 2–7 มม. ช่อดอกยาว 2–7 ซม. ก้านดอกยาว 0.5–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 1–3 มม. ดอกสีขาวอมเขียว เหลืองอ่อน หรือสีชมพู หลอดกลีบดอกยาว 3–7 มม. กลีบรูปขอบขนาน ยาว 0.8–1.5 ซม. โคนเรียว กะบัง 2 ชั้น แผ่กว้าง ด้านนอกมีขนกระจาย กะบังหน้ากลีบดอกแนบติดกลีบดอกประมาณกึ่งหนึ่ง จักเป็นคลื่น กะบังระหว่างกลีบดอกรูปตัววี สั้นกว่ากะบังหน้ากลีบดอกเล็กน้อย เกสรเพศผู้ติดบนคอหลอดกลีบดอก อับเรณูยาว 5–6 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 6–8 มม. รวมยอดเกสร ผลรูปกระสวยติดกัน แห้งแยกกัน ยาว 10–34 ซม. มีช่องอากาศ เมล็ดยาว 1.5–1.7 ซม. กระจุกขนยาว 5–6 ซม.

พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ลาว และเวียดนาม ในไทยพบมากทางภาคเหนือ กระจายห่าง ๆ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ตอนบน ขึ้นตามชายป่าหรือในป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ความสูง 200–1500 เมตร น้ำยางขาวและกระจุกขนในเมล็ดใช้ห้ามเลือด ราก เปลือก และกิ่งบด ทาแก้พิษงูและแมงป่อง

ชื่อพ้อง  Periploca arborea Dennst.

ชื่อสามัญ  Ivory

ชื่ออื่น   แนแก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); มักมัน (สุราษฎร์ธานี); มูกน้อย, มูกมัน (น่าน); โมกน้อย, โมกมัน (ทั่วไป); เส่ทือ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

โมกมัน: ดอกสีขาวอมเขียว กลีบรูปขอบขนาน กะบังเรียง 2 ชั้น จักเป็นคลื่น ผลติดกัน มีช่องอากาศ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

โมกมัน
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia pubescens R.Br.

Apocynaceae

ดูที่ โมก

โมกราชินี
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia sirikitiae D.J.Middleton & Santisuk

Apocynaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น แตกกอ สูงได้ถึง 10 ม. ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3–10 ซม. ก้านใบยาว 0.4–1 ซม. ช่อดอกยาว 3–5 ซม. ก้านดอกยาว 0.5–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมปลายมน ยาว 1.5–2 มม. ดอกสีขาว รูปดอกเข็ม หลอดกลีบดอกยาว 1.4–2 ซม. กลีบรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาว 1.4–2.5 ซม. กะบัง 3 ชั้น กะบังหน้ากลีบดอกแนบติดกลีบดอกเกือบกึ่งหนึ่ง ปลายแยกเป็นแฉก ยาว 1–1.2 ซม. ปลายแฉกเป็นตุ่ม กะบังระหว่างกลีบดอกคล้ายกะบังหน้ากลีบดอก แต่ติดที่โคนกลีบดอก กะบังย่อยออกเดี่ยว ๆ ยาว 2–6 มม. เกสรเพศผู้ติดภายในหลอดกลีบ อับเรณูยาวประมาณ 1 ซม. รังไข่มีขนประปราย ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2 ซม. รวมยอดเกสร ผลรูปกระสวย กางออก ปลายกว้าง โค้งเล็กน้อย กว้าง 1–1.5 ซม. ยาว 8–15 ซม. มีช่องอากาศหนาแน่น เมล็ดยาวประมาณ 1.5 ซม. กระจุกขนยาวประมาณ 3 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือตอนล่างที่นครสวรรค์ ภาคกลางที่สระบุรี ลพบุรี และภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่สระแก้ว ขึ้นตามเขาหินปูนเตี้ย ๆ ความสูงไม่เกิน 100 เมตร ชื่อชนิดตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

โมกราชินี: ไม้ต้นขนาดเล็กแตกกอ ดอกรูปดอกเข็ม กะบัง 3 ชั้น ปลายแยกเป็นแฉก ปลายแฉกป็นตุ่ม ผลแยกกัน กางออก ปลายกว้าง มีช่องอากาศหนาแน่น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โมกสยาม
วันที่ 28 เมษายน 2560

Wrightia siamensis D.J.Middleton

Apocynaceae

ไม้พุ่ม สูง 1–3 ม. ใบรูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 2.5–12 ซม. ก้านใบยาว 2.5–6 มม. ช่อดอกยาว 2–3 ซม. มี 3–5 ดอก ก้านดอกยาว 3–7 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 3 มม. ต่อมโคนกลีบขนาดเล็ก ปลายจักฟันเลื่อย ดอกสีแดงอมชมพู หลอดกลีบดอกยาว 4–5 มม. กลีบรูปขอบขนาน ยาว 1.4–1.5 ซม. กะบัง 3 ชั้น กะบังหน้ากลีบดอกแนบติดกลีบดอกเกือบตลอดความยาว ยาวประมาณ 4 มม. ปลายจักตื้น ๆ กะบังระหว่างกลีบดอกยาว 2.7–3 มม. ปลายแยก 2 แฉก โคนเชื่อมติดกะบังหน้ากลีบดอก จุดเชื่อมมีกะบังย่อยข้างละ 1 อัน เป็นติ่ง ยาวประมาณ 0.5 มม. เกสรเพศผู้ติดบนคอหลอด อับเรณูยาวประมาณ 1 ซม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 8.5 ซม. รวมยอดเกสร ผลแยกกัน มีช่องอากาศและขนละเอียด ยาว 13–15 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูงไม่เกิน 100 เมตร

โมกสยาม: กลีบดอกรูปขอบขนาน กะบัง 3 ชั้น ระหว่างกะบังมีกะบังย่อยขนาดเล็กข้างละ 1 อัน ผลมีช่องอากาศ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

โมกหลวง
วันที่ 28 เมษายน 2560

Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don

Apocynaceae

ดูที่ โมกใหญ่



เอกสารอ้างอิง

Middleton, D.J. (2007). A new species of Wrightia (Apocynaceae: Apocynoideae) from Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 35: 80–85.

Middleton, D.J. (2010). Three new species of Wrightia (Apocynaceae: Apocynoideae) from Thailand. Gardens’ Bulletin Singapore 61(2): 369–378.

Middleton, D.J. (1999). Apocynaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(1): 79–90.

Middleton, D.J. and T. Santisuk. (2001). A new species of Wrightia (Apocynaceae: Apocynoideae) from Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 1–10.