สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

โพอาศัย

โพอาศัย
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Neohymenopogon parasiticus (Wall.) Bennet

Rubiaceae

ไม้พุ่ม ส่วนมากอิงอาศัย สูงได้ถึง 2 ม. ทิ้งใบช่วงติดผล หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาว 0.5–1 ซม. ร่วงพร้อมใบ ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่หรือไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ยาว 8–21 ซม. โคนเรียวแคบจรดก้านใบ แผ่นใบมีขนละเอียด เส้นแขนงใบข้างละ 15–28 เส้น ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ช่อกระจุกมี 2–5 ดอก ใบประดับขนาดใหญ่รูปไข่แกมรูปใบหอก สีขาวครีม ยาว 6–7.5 ซม. ขยายยาวได้ถึง 9 ซม. ในผล ก้านยาว 1.5–4.5 ซม. ใบประดับย่อยเล็กกว่า ก้านดอกยาว 0.8–2 ซม. ดอกรูปดอกเข็ม มีขนยาว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปแถบ ยาว 0.8–1.5 ซม. ติดทน หลอดกลีบดอกยาว 3–5.5 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปไข่กว้าง ยาว 0.5–1 ซม. รังไข่มีขน พลาเซนตารูปจานแบบก้นปิด ยอดเกสรเพศเมียแยก 2 แฉก ผลแห้งแตก รูปโคนหัวกลับ ยาว 1.5–2 ซม. ด้านบนมีฝาเปิด 2 ฝา เมล็ดจำนวนมาก รูปแถบ ยาว 5–7 มม. รวมปีก

พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล พม่า จีนตอนใต้ และเวียดนามตอนบน ในไทยพบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามคบไม้ที่มีมอสหนาแน่น หรือที่โล่งตามซอกหินปูนหรือหินทราย ความสูง 1200–2500 เมตร

สกุล Neohymenopogon Bennet อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Rubioideae เผ่า Argostemmateae มี 3 ชนิด พบแถบหิมาลัยตะวันออก จีนตอนใต้ พม่า และเวียดนามตอนบน ในไทยมีเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลเดิมชื่อ Hymenopogon แต่พบว่าซ้ำกับชื่อสกุลของมอส

ชื่อพ้อง  Hymenopogon parasiticus Wall.

ชื่ออื่น   โพวาไหสยี (เชียงราย); โพอาศัย (เชียงใหม่)

โพอาศัย: ไม้พุ่มอิงอาศัย ช่อแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ใบประดับขยายในผล ดอกรูปดอกเข็มมีขนยาว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ประทีป โรจนดิลก)



เอกสารอ้างอิง

Chen, T. and C.M. Taylor. (2011). Rubiaceae (Neohymenopogon). In Flora of China Vol. 19: 253–254.