สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

โพศรีมหาโพธิ

โพศรีมหาโพธิ
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Ficus religiosa L.

Moraceae

ไทรกึ่งอิงอาศัย สูงได้ถึง 35 เมตร หูใบยาว 0.5–1 ซม. ร่วงเร็ว ใบรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ยาว 5–25 ซม. ปลายยาวคล้ายหาง โคนตัดหรือรูปหัวใจ ก้านใบยาว 2.5–12 ซม. ดอกอยู่ภายในฐานดอกที่ขยายออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ตามซอกใบ ไร้ก้าน ใบประดับขนาดเล็ก ฐานดอกกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.5 ซม. สุกเปลี่ยนเป็นสีชมพู ม่วงหรือดำ มีช่องเปิดเล็กๆ ด้านปลาย เกสรเพศผู้เรียงใกล้ช่องเปิด กลีบรวมสีแดง รังไข่สีน้ำตาลแดง (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ไทร, สกุล)

พบที่ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบในธรรมชาติน้อย อาจกระจายมาจากต้นที่นำมาปลูก มักพบขึ้นตามซากอาคาร และนิยมปลูกตามวัด อยู่ในสกุลย่อย Urostigma อนึ่งคำว่า โพธิ มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต “bodhi” เป็นต้นไม้สำคัญในศาสนาฮินดูและพุทธ เป็นต้นไม้ที่เป็นสหชาตกับพระพุทธเจ้า คืออุบัติขึ้นในโลกในวันเดียวกับที่ทรงประสูติ อย่างไรก็ตามต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งในเวลาที่ตรัสรู้ ทุกพระองค์ในตำนาน 25 พระองค์ ต่างชนิดกัน เรียกรวมว่า โพธิ์พฤกษ์ ซึ่งในที่นี้คือ อัสสัตถพฤกษ์ที่พระโคตมพุทธเจ้าองค์ที่ 25 ตรัสรู้ ซึ่งอัสสัตถแปลว่าต้นโพ หรือ ต้นโพธิ์ จากจดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวว่าชาวยุโรปในสมัยนั้นเรียกต้นโพ ว่า Arbre des Pagodes หรือ ต้นไม้อุโบสถ

ชื่อสามัญ  Bodhi, Pipal tree, Sacred fig

ชื่ออื่น   ปู (เขมร); โพ, โพศรีมหาโพธิ (ภาคกลาง); ย่อง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); สลี (ภาคเหนือ)

โพศรีมหาโพธิ: ไทรกึ่งอิงอาศัย ปลายใบยาวคล้ายหาง โคนตัดหรือรูปหัวใจ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. (2548). จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. สำนักพิมพ์ศรีปัญญา. นนทบุรี.

ส. พลายน้อย. (2531). พฤกษนิยาย. สำนักพิมพ์บำรุงสาส์น. กรุงเทพฯ.

สังข์ พัธโนทัย. (2515). ปทานุกรม พรรณไม้ในตำนานเมือง ศูนย์การพิมพ์ พระนคร.

Berg, C.C., N. Pattharahirantricin and B. Chantarasuwan. (2011). Moraceae. In Flora of Thailand Vol. 10(4): 637.