สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

โปรงแดง

โปรงแดง
วันที่ 30 มกราคม 2560

Ceriops tagal (Perr.) C.B.Rob.

Rhizophoraceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ส่วนมากสูง 2–10 ม. หรืออาจสูงได้ถึง 30–40 ม. เปลือกสีเทาหรือน้ำตาลแดง แตกเป็นสะเก็ดหรือร่องตามยาว หูใบยาว 1–2.5 ซม. โคนด้านในมี 165–205 ต่อม เรียง 24–26 ชั้น ใบรูปไข่ รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ยาว 4–12 ซม. ก้านใบยาว 1–3.5 ซม. ช่อดอกมี 4–10 ดอก ใบประดับย่อยรูปถ้วย ยาวประมาณ 2.5 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 5 มม. บานออกในผล ดอกสีขาวหรือครีม เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล กลีบรูปไข่กลับหรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 3.5–4 มม. ปลายตัด รยางค์รูปกระบอง 3 อัน มีต่อมกระจาย ก้านชูอับเรณูยาว 3–5 มม. ก้านเกสรเพศเมียสั้น โคนหนา ผลรูปไข่ ยาว 1.5–2.5 ซม. ต้นอ่อนใต้ใบเลี้ยงยาว 15–35 ซม. เรียบหรือมีสันคมตามยาว ห้อยลง โคนสีครีม (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ โปรงขาว, สกุล)

พบที่แอฟริกา มาดากัสการ์ อินเดีย ศรีลังกา พม่า กัมพูชา เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และออสเตรเลีย ในไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ เนื้อไม้มีความทนทานมากที่สุดในบรรดาไม้ในป่าโกงกาง ใช้ทำฟืนและถ่านคุณภาพดี เปลือกใช้ทำสีย้อมให้สีดำ คำระบุชนิดมาจากคำว่า “tagalog” ที่ใช้เรียกชนเผ่าในฟิลิปปินส์

ชื่อพ้อง  Rhizophora tagal Perr.

ชื่ออื่น   ปรง (จันทบุรี, สมุทรสาคร); โปรงแดง (สมุทรสาคร); แสม (ภาคใต้)

โปรงแดง: ดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต้นอ่อนใต้ใบเลี้ยงห้อยลง เรียบ โคนสีครีม (ภาพ: นันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน)



เอกสารอ้างอิง

Hou, D. (1970). Rhizophoraceae. In Flora of Thailand Vol. 2(1): 10–12.