สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

โนรี

โนรีเกาะช้าง
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Hiptage monopteryx Sirirugsa

Malpighiaceae

ไม้เถา ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 6.5–13 ซม. ปลายแหลมยาว โคนกลม ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. ช่อดอกยาว 2–5 ซม. มีขนสีน้ำตาล ผลสีน้ำตาล ปีกกลางรูปขอบขนาน ยาว 3–4 ซม. ปลายแยกเป็น 2 แฉก ไม่เท่ากัน ปลายมน ปีกข้างยาวประมาณ 5 มม. ปีกด้านบนขนาดเล็กเป็นสัน ก้านผลยาว 1.2–1.5 ซม. มีติ่งตรงจุดกึ่งกลาง

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่เกาะช้าง จังหวัดตราด และเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ

โนรีเกาะช้าง: ปีกกลางรูปขอบขนาน ปลายแยกเป็น 2 แฉกไม่เท่ากัน ปีกข้างขนาดเล็ก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โนรีเขา
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Hiptage condita Craib

Malpighiaceae

ไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งมีช่องอากาศหนาแน่น มีขนสีน้ำตาลหนาแน่นตามตาด้านข้าง ช่อดอก และผล ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 5–9.5 ซม. ปลายและโคนแหลม ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกยาว 5–15 ซม. ก้านดอกยาว 1.2–1.5 ซม. มีข้อใกล้จุดกึ่งกลาง กลีบเลี้ยงมีต่อมขนาดเล็กเห็นไม่ชัดเจน กลีบกลม ยาวประมาณ 2 มม. ดอกสีขาวอมชมพู กลีบรูปรี ปลายมน ยาวประมาณ 1 ซม. โคนตัดหรือรูปติ่งหู เกสรเพศผู้อันยาว ยาวประมาณ 1 ซม. อันสั้นยาว 4–5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 ซม. ผลสีม่วงอมแดง โคนเขียว ปีกกลางรูปขอบขนาน โคนเรียวสอบ ปลายปีกมน ยาวประมาณ 3.5 ซม. ปีกข้างยาวประมาณ 2 ซม. ปีกด้านบนขนาดเล็กเป็นสัน ยาว 5–8 มม. สูง 1–2 มม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และดอยตุง จังหวัดเชียงราย ขึ้นตามยอดเขาหินปูน ความสูง 500–1800 เมตร

ชื่ออื่น   โนรีเขา, โนรีแม่กก (ทั่วไป)

โนรีเขา: ช่อดอกยาว ก้านดอกมีข้อใกล้จุดกึ่งกลาง กลีบเลี้ยงมีต่อมไม่ชัดเจน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โนรีแม่กก
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Hiptage condita Craib

Malpighiaceae

ดูที่ โนรีเขา

โนรีปราณ
วันที่ 23 พฤษภาคม 2561

Hiptage calcicola Sirirugsa

Malpighiaceae

ไม้พุ่มรอเลื้อย มีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่นตามกิ่งอ่อน ใบอ่อน ก้านใบ และช่อดอก หูใบขนาดเล็ก ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3–11 ซม. ปลายแหลมยาวสั้น ๆ หรือกลม โคนกลมหรือเว้าตื้น ๆ ขอบมีสีเข้ม แผ่นใบเป็นมันวาวด้านบน ด้านล่างไม่มีต่อมตามแผ่นใบด้านล่างและขอบใบ แต่มีต่อมใกล้โคน 1–2 คู่ เส้นแขนงใบข้างละ 3–7 เส้น ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกยาวได้ถึง 12 ซม. ก้านช่อสั้น ก้านดอกยาว 0.4–1.5 ซม. เป็นข้อใต้จุดกึ่งกลาง มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 2 มม. ใบประดับย่อยแหลม ขนาดประมาณ 1 มม. กลีบเลี้ยงมีต่อมขนาดเล็กเห็นไม่ชัดเจนหรือไม่มี กลีบรูปรี ยาวประมาณ 1.5 มม. ปลายกลม โคนตัด ดอกสีขาวอมเหลือง กลีบดอกรูปเกือบกลม กว้างยาว 3.5–4 มม. โคนตัดหรือรูปติ่งหู ขอบจักชายครุย ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ก้านกลีบยาว 1–2 มม. ก้านชูอับเรณูยาว 1–2.5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4 มม. ผลสีเขียวอ่อนอมน้ำตาล มีขนสั้นนุ่ม ปีกกลางรูปขอบขนาน ยาว 2–2.5 ซม. ปลายกลมหรือจัก 2 พู ปีกข้างรูปขอบขนาน ยาว 1–1.2 ซม. ก้านผลยาว 1.5–2 ซม.(ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ โนรี, สกุล)

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย ภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่เพชรบุรี (แก่งกระจาน) ประจวบคีรีขันธ์ (สามร้อยยอด, ห้วยยาง) และภาคใต้ที่พังงาและพัทลุง ขึ้นตามยอดเขาหินปูน ความสูงจนถึงประมาณ 500 เมตร

โนรีปราณเขา: ขอบใบมีสีเข้ม ช่อดอกยาว ก้านดอกมีข้อใต้จุดกึ่งกลาง กลีบเลี้ยงมีต่อมไม่ชัดเจน ผลสีเขียวอ่อนอมน้ำตาล มีขนสั้นนุ่ม (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

โนรีปันหยี
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Hiptage detergens Craib

Malpighiaceae

ไม้เถาเนื้อแข็ง มีขนแบนราบตามกิ่ง ก้านใบ และช่อดอก ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 3–5 ซม. แผ่นใบมีขนตามเส้นกลางใบ ก้านใบยาว 3–7 มม. ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง ยาว 2–3 ซม. ก้านดอกยาว 0.5–1 ซม. มีข้อประมาณจุดกึ่งกลาง กลีบเลี้ยงมีต่อมขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 2 มม. กลีบรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2 มม. กลีบดอกรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 6 มม. ขอบจักมนหรือจักฟันเลื่อย เกสรเพศผู้อันยาว ยาว 7–9 มม. อันสั้นยาว 3–5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 6–8 มม. มีขน ในผลปีกกลางรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายปีกกลม จักมน ยาว 1–1.4 ซม. ปีกข้าง 2 ปีก ยาว 0.5–1 ซม. มีสันเล็ก ๆ

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่กระบี่ พังงา ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 200 เมตร

โนรีปันหยี: ไม้เถาเนื้อแข็ง ช่อดอกออกสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงมีต่อมขนาดใหญ่ 1 ต่อม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โนรี  สกุล
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Hiptage Gaertn.

Malpighiaceae

ไม้เถาเนื้อแข็ง ไม้พุ่ม หรือไม้ต้น หูใบขนาดเล็ก ใบเรียงตรงข้าม โคนใบส่วนมากมีต่อม 2 ต่อม แผ่นใบด้านล่างมักมีต่อมกระจาย เส้นแขนงใบเรียงจรดกัน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม มีต่อมขนาดใหญ่ 1 หรือ 2 ต่อม บางครั้งไม่ชัดเจน กลีบดอกสมมาตรด้านข้าง มี 5 กลีบ มีก้านกลีบสั้น ๆ ขอบจักชายครุย ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันที่โคน ยาวไม่เท่ากัน อันยาวที่สุด 1 อัน รังไข่จัก 3 พู มีรยางค์ 3–5 อัน มีขนปกคลุม ก้านเกสรเพศเมียโค้งงอ ผลแยกแล้วแตก มี 1–3 ซีก แต่ละซีกมีปีก 3 ปีก

สกุล Hiptage อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Malpighioideae มีประมาณ 30 ชนิด ส่วนมากพบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 10 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “hiptamai” บิน ตามลักษณะของผลที่มีปีก


โนรี
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Hiptage lucida Pierre

Malpighiaceae

ไม้เถา กิ่งมีช่องอากาศ ตามข้อมีขนสีขาวกระจาย ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 5.5–12 ซม. ปลายแหลมยาว โคนกลม ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. ช่อดอกยาวได้ถึง 15 ซม. ก้านช่อยาวประมาณ 2 ซม. ก้านดอกยาว 1–2.2 ซม. เป็นข้อประมาณใต้จุดกึ่งกลาง กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 2.5 มม. ด้านนอกมีต่อมขนาดเล็กไม่ชัดเจน ดอกสีชมพูอมขาว กลีบรูปไข่กลับกว้าง เกสรเพศผู้อันยาวยาว 8–9 มม. อันสั้นยาว 3–5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 ซม. ติดทน ผลเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ปีกกลางรูปขอบขนาน ยาว 3–4.5 ซม. ปลายมนหรือเว้าตื้น ปีกข้างยาว 1.5–2.2 ซม.

พบที่เวียดนามตอนใต้ และกัมพูชา ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้งใกล้ชายฝั่งทะเล ความสูงไม่เกิน 100 เมตร หรือพบเป็นไม้ประดับ

โนรี: ดอกสีชมพูอมขาว กลีบรูปไข่กลับกว้าง กลีบเลี้ยงมีต่อมไม่ชัดเจน ก้านดอกมีข้อ ปีกกลางรูปขอบขนาน ปลายมนหรือเว้าตื้น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chen, S.K. and M. Funston. (2008). Malpighiaceae. In Flora of China Vol. 11: 135–136.

Sirirugsa, P. (1991). Malpighiaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(3): 273–285.