Index to botanical names
โด่ไม่รู้ล้ม
Asteraceae
ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 60 ซม. มีเหง้า ลำต้นแยกแขนง มีขนหยาบและต่อมตามลำต้น แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก ใบประดับ และวงใบประดับ ใบเรียงเป็นกระจุกที่โคน รูปใบหอกกลับ ยาว 5–18 ซม. ปลายกลม โคนเรียวสอบ ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบสั้น ใบตามลำต้นขนาดเล็ก ปลายแหลม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นเป็นกระจุกหลายช่อ ใบประดับคล้ายใบ รูปไข่ ยาว 1–1.5 ซม. วงใบประดับเรียวแคบ ยาวประมาณ 1 ซม. ใบประดับ 8 อัน เรียงตรงข้ามตั้งฉากกัน สีเขียวหรือแดงอมม่วง รูปใบหอก ปลายแหลม วงในยาวกว่าวงนอกประมาณ 2 เท่า ยาวประมาณ 1 ซม. ดอกย่อยมี 4 ดอก สีชมพูหรือม่วง กลีบยาว 7–9 มม. เชื่อมติดกัน 4–5 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก ผลแห้งเมล็ดล่อน รูปแถบ ยาวประมาณ 4 มม. เป็นเหลี่ยม มีขนละเอียด แพปพัส 5–6 อัน ยาว 4–5 มม.พบในอเมริกาเขตร้อน แอฟริกา และเอเชีย ขึ้นเป็นวัชพืช ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร มีสรรพคุณขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ แก้การอักเสบต่าง ๆสกุล Elephantopus L. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Cichorioideae เผ่า Vernonieae มีประมาณ 30 ชนิด ส่วนมากพบในอเมริกาใต้ ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ E. mollis Kunth ใบเรียงบนต้น ดอกสีขาว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “elephantos” ช้าง และ “pous” เท้า ตามลักษณะของเหง้าหรือใบกระจุกที่โคนต้น
ชื่อสามัญ Prickly leaved elephant’s foot
ชื่ออื่น ขี้ไฟนกคุ่ม (เลย); คิงไฟนกคุ่ม (ชัยภูมิ); เคยโป้ (ภาคเหนือ); โด่ไม่รู้ล้ม (ภาคกลาง); ตะซีโกวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); หญ้าไก่นกคุ่ม, หญ้าปราบ, หญ้าไฟนกคุ้ม, หญ้าสามสิบสองหาบ, หนาดผา (ภาคเหนือ); หนาดมีแคลน (สุราษฎร์ธานี)
โด่ไม่รู้ล้ม: มีขนหยาบและต่อมทั่วไป ใบเรียงเป็นกระจุกที่โคน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)
Chen, Y. and M.G. Gilbert. (2011). Asteraceae (Vernonieae). In Flora of China Vol. 20–21: 368–369.