สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

โคลงเคลง

โคลงเคลง  สกุล
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Melastoma L.

Melastomataceae

ไม้พุ่ม ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือช่อแยกแขนง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกส่วนมากจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ดอกส่วนมากสีชมพูหรืออมม่วง ฐานดอกรูปถ้วย มีเกล็ด ขนแข็ง หรือขนกระจุก เกสรเพศผู้จำนวน 2 เท่าของกลีบดอก เรียง 2 วง มี 2 แบบหรือแบบเดียว แกนอับเรณูยื่นยาว อันที่ติดเหนือกลีบเลี้ยงยาวกว่าอันที่ติดเหนือกลีบดอก ปลายโค้ง ส่วนมากมีรยางค์ 2 อัน หรือจัก 2 พู อับเรณูมีรูเปิดที่ปลาย รังไข่ใต้วงกลีบ แนบติดฐานดอกรูปถ้วย มี 5 ช่อง เกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้อันยาว ยอดเกสรขนาดเล็ก ผลแห้งแตกออกเป็นส่วน ๆ หรือแห้งไม่แตก เมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก ฝังตามเนื้อผล

สกุล Melastoma มี 22 ชนิด พบในเอเชีย ในไทยมี 8 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “melas” สีดำ และ “stoma” ปาก หมายถึงผลของพืชสกุลนี้บางชนิดทำให้ปากดำเมื่อกินเข้าไป


โคลงเคลง
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Melastoma sanguineum Sims

Melastomataceae

ดูที่ มังเคร่ช้าง

โคลงเคลง
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Melastoma malabathricum L.

Melastomataceae

ไม้พุ่ม อาจสูงได้ถึง 6 ม. กิ่งเป็นเหลี่ยม มีเกล็ดคล้ายขนแบนราบหนาแน่นตามกิ่ง ใบประดับ และฐานดอกรูปถ้วย ใบรูปใบหอก ยาว 4–14 ซม. เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น แผ่นใบมีขนแข็งเอนหนาแน่นทางด้านล่าง ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ช่อดอกมี 3–7 ดอก ออกที่ปลายกิ่งใหม่ ๆ ใบประดับยาวได้ถึง 2 ซม. ฐานดอกยาว 0.5–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาว 0.5–1.3 ซม. ปลายเรียวแหลม กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาว 2.5–4 ซม. อับเรณูวงนอกยาว 0.7–1.4 ซม. รยางค์ยาว 0.4–1 ซม. วงในอับเรณูและรยางค์สั้นกว่า รังไข่ปลายมีขนแข็ง ผลรูปคนโท ยาวได้ถึง 1.5 ซม. แตกอ้าเปิดออก ผลแก่เนื้อในสีม่วง

พบที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชาย ความสูงถึงประมาณ 2000 เมตร มีความผันแปรสูง แยกเป็น subsp. normale (D.Don) Karst. Mey. กิ่งและแผ่นใบด้านล่างมีขนยาว พบที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ใบใช้ประคบแผลไฟไหม้

ชื่อสามัญ  Indian Rhododendron, Malabar melastome

ชื่ออื่น   subsp. malabathricum: กะดูดุ, กาดูโด๊ะ (มาเลย์-ปัตตานี, สตูล); โคลงเคลง, โคลงเคลงขี้นก, โคลงเคลงขี้หมา (ตราด); ซิซะโพ๊ะ (กะเหรียง-กาญจนบุรี); ตะลาเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); เบร์, มะเหร, มังเคร่, มังเร้ (ภาคใต้); มายะ (ชอง-ตราด); สาเร, สำเร (ภาคใต้); อ้า, อ้าหลวง (ภาคเหนือ) subsp. normale (D. Don) K. Meyer: กะช้างลิ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ขันก๋าง (เพชรบูรณ์); จุกนารี (กรุงเทพฯ); ซอลาเปล (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ปอฮี้แท้ (กะเหรียง-แม่ฮ่องสอน); อ้า, อ้าหลวง (ภาคเหนือ); อี้สี่ (มูเซอ-เชียงใหม่)

โคลงเคลง: เกสรเพศผู้มี 2 ขนาด ผลรูปคนโท แตกอ้าเปิดออก เมล็ดขนาดเล็กฝังตามเนื้อผล กิ่งและแผ่นใบด้านล่างมีขนยาว (subsp. normale) (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โคลงเคลงเลื้อย
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Dissotis rotundifolia (Sm.) Triana

Melastomataceae

ดูที่ โคลงเคลงแอฟริกา

โคลงเคลงขน
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Melastoma saigonense (Kuntze) Merr.

Melastomataceae

ดูที่ โคลงเคลงญวน

โคลงเคลงขี้นก
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Melastoma malabathricum L.

Melastomataceae

ดูที่ โคลงเคลง

โคลงเคลงขี้หมา
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Melastoma malabathricum L.

Melastomataceae

ดูที่ โคลงเคลง

โคลงเคลงช้าง
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Melastoma sanguineum Sims

Melastomataceae

ดูที่ มังเคร่ช้าง

โคลงเคลงญวน
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Melastoma saigonense (Kuntze) Merr.

Melastomataceae

ไม้พุ่ม สูงได้ประมาณ 3 ม. กิ่งมีขนแข็งสีน้ำตาลแดง ขนยาวตามแผ่นใบทั้งสองด้านและใบประดับ ขนแข็งรูปดาวเป็นติ่งหนาแน่นตามฐานดอก และผล ใบรูปขอบขนาน ยาว 3–9 ซม. เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 2 ซม. ช่อดอกออกตามซอกใบที่ปลายกิ่งมี 3–5 ดอก ใบประดับยาวประมาณ 5 มม. ฐานดอกยาว 1–1.3 ซม. กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 7 มม. กลีบดอก 4–5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1.5–2 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวไม่เท่ากัน อับเรณูยาวประมาณ 1 ซม. แกนอับเรณูยาวเท่า ๆ อับเรณู วงในแกนอับเรณูไม่ยื่นยาว รังไข่ปลายมีขนแข็ง ผลยาว 1.2–1.4 ซม.

พบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทางภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง ที่โล่งบนลานหินทราย ความสูงถึงประมาณ 200 เมตร

ชื่อพ้อง  Osbeckia saigonensis Kuntze

ชื่ออื่น   โคลงเคลงขน (ปราจีนบุรี); โคลงเคลงญวน (ทั่วไป); ม่ายะ (ชอง-ตราด); เอ็นอ้า (อุบลราชธานี)

โคลงเคลงญวน: กิ่งมีขนแข็งสีน้ำตาลแดง ขนยาวตามแผ่นใบทั้งสองด้านและใบประดับ ขนแข็งรูปดาวเป็นติ่งหนาแน่นตามฐานดอก และผล เกสรเพศผู้ยาวไม่เท่ากัน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

โคลงเคลงผลแห้ง
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Melastoma pellegrinianum (H.Boissieu) Karst. Mey.

Melastomataceae

ไม้พุ่ม สูง 1–2.5 ม. มีขนแข็งเอนตามกิ่ง แผ่นใบทั้งสองด้าน และฐานดอก ใบรูปใบหอก ยาว 8–12 ซม. เส้นโคนใบข้างละ 2–3 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1 ซม. ช่อดอกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกจำนวนมาก ใบประดับยาวประมาณ 8 มม. ด้านนอกมีขนยาว ฐานดอกยาว 5–7 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก ยาว 5–7 มม. กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1–1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวไม่เท่ากัน แกนอับเรณูวงนอกยาวประมาณ 9 มม. รยางค์ยาว 0.8–1 ซม. วงในสั้นกว่าวงนอก รังไข่ปลายมีขนแข็ง ผลแห้งแตกด้านบน รูปรีกว้าง ยาว 0.6–1 ซม.

พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง ที่โล่งบนลานหิน ความสูงถึงประมาณ 600 เมตร

ชื่อพ้อง  Dissotis pellegriniana H.Boissieu

โคลงเคลงผลแห้ง: ช่อดอกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง เกสรเพศผู้ยาวไม่เท่ากัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

โคลงเคลงหิน
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Osbeckia stellata Buch.-Ham. ex Ker Gawl.

Melastomataceae

ดูที่ เอนอ้าขน



เอกสารอ้างอิง

Renner, S.S., G. Clausing, N. Cellinese and K. Meyer. (2001). Melastomataceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 438–448.