สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

โกงกางหูช้าง

โกงกางหูช้าง
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Guettarda speciosa L.

Rubiaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. แยกเพศต่างต้น หรือแกมสมบูรณ์เพศ แตกกิ่งต่ำ หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาวได้ถึง 1 ซม. ร่วงเร็ว ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่กลับกว้างเกือบกลม ยาว 10–25 ซม. โคนกลมหรือเว้าตื้น แผ่นใบหนา มีขนกระจายด้านล่าง ก้านใบยาว 1.5–4 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงเป็นวงแถวคู่ ก้านยาว 5–10 ซม. กลีบเลี้ยงขนาดเล็กไม่ชัดเจน ดอกรูปดอกเข็ม สีขาว หลอดกลีบยาว 1.5–3 ซม. มี 6–9 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปรี ยาว 4–8 มม. ด้านนอกมีขนกำมะหยี่ ปากหลอดมีขนยาว เกสรเพศผู้ 6–9 อัน ไร้ก้าน ติดใกล้ปากหลอด รังไข่มี 4–9 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบดอก ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลผนังชั้นในแข็งเป็นใย เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2.5 ซม. ก้านยาว 3.5–10 ซม. มี 4–9 ไพรีน

พบตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก แอฟริกาตะวันออก และออสเตรเลีย ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามโขดหินริมทะเล ความสูงไม่เกิน 50 เมตร เปลือกรสฝาดเป็นยาสมาน ลดกรด แก้ไข้ แก้โรคลมชัก

สกุล Guettarda L. มีประมาณ 80 ชนิด ส่วนใหญ่พบในอเมริกาเขตร้อน ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Jean-Étienne Guettard (1715–1786)

ชื่อสามัญ  Beach Gardenia, Sea Randia, Tafano, Zebra wood

ชื่ออื่น   กดล (จันทบุรี); โกงกางหูช้าง (ตราด); ซ่าดา (ภาคใต้); น่าเซีย (กระบี่); เป่งเม่น (สุราษฎร์ธานี); โพล่ (ชุมพร)

โกงกางหูช้าง: ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่กลับกว้างเกือบกลม โคนกลมหรือเว้าตื้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงเป็นวงแถวคู่ กลีบดอกด้านนอกมีขนกำมะหยี่ ปากหลอดมีขนยาว ผลมีก้านยาว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chen, T. and C.M. Taylor. (2011). Rubiaceae (Guettarda). In Flora of China Vol. 19: 145.

Wong, K.M. (1988). The Antirheoideae (Rubiaceae) of the Malay Peninsula. Kew Bulletin 43: 496.