สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

แห้วประดู่

แห้วประดู่
วันที่ 3 มกราคม 2561

Eriosema chinense Vogel

Fabaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. หัวใต้ดินอวบ มีขนยาวคล้ายไหมตามกิ่ง หูใบ แผ่นใบ กลีบเลี้ยง และกลีบกลางด้านนอก หูใบรูปแถบ ยาว 4–8 มม. ติดทน ใบประกอบมีใบเดียว เรียงเวียน รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 1.5–7 ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนกลมหรือเว้าตื้น เกือบไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ๆ ออกตามซอกใบ มี 1–2 ดอก ใบประดับขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาว 3–5 มม. มี 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ๆ ดอกสีเหลือง ยาว 0.8–1 ซม. ด้านนอกสีอ่อนกว่า มีเส้นกลีบสีน้ำตาล กลีบกลางรูปไข่กลับ โคนมีติ่ง กลีบปีกและกลีบคู่ล่างรูปขอบขนาน สั้นกว่ากลีบกลาง โคนมีติ่งด้านเดียว เกสรเพศผู้เชื่อมติด 2 กลุ่ม อันหนึ่งแยกจรดโคน รังไข่มีขนหยาบหนาแน่น ออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียโค้งเข้า ฝักรูปรีหรือรูปขอบขนาน เบี้ยว ยาวได้ถึง 1 ซม. มีขนหยาบหนาแน่น มี 2 เมล็ด สีดำ มีก้านสั้น ๆ ขั้วเมล็ดรูปเส้นด้าย

พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า และเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 2000 เมตร รากกินสด บำรุงกำลัง แก้ท้องเสีย เมล็ดต้มเอาน้ำมีสรรพคุณสมานแผล และขับปัสสาวะ

สกุล Eriosema (DC.) Desv. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Papilionoideae เผ่า Phaseoleae มีประมาณ 130 ชนิด พบในเขตร้อน โดยเฉพาะแอฟริกา ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “erion” ขนแบบขนแกะ และ “sema” กลีบกลาง ตามลักษณะกลีบกลางด้านนอกมีขนคล้ายขนแกะ

ชื่อสามัญ  Chinese bush carrot

ชื่ออื่น   ค้อนกลอง (Prachin Buri); มันช่าง (Satun); มันท่ง (Surat Thani); หญ้าลูกลีบ (Loei); แห้วดำ (Nakhon Sawan); แห้วประดู่ (ภาคกลาง)

แห้วประดู่: ถิ่นที่อยู่ขึ้นตามที่โล่งบนเขาหินปูน มีขนยาวคล้ายไหมตามลำต้น หูใบ แผ่นใบ กลีบเลี้ยง และกลีบกลางด้านนอก ใบประกอบมีใบเดียว ช่อดอกมี 1–2 ดอก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Sa, R. and M.G. Gilbert. (2010). Fabaceae (Eriosema). In Flora of China Vol. 10: 227.