| ไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. กิ่งบางครั้งมีหนาม ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่กว้าง ยาว 4–10.5 ซม. ปลายแหลมสั้น ๆ หรือมีติ่งแหลม เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ ออกที่ปลายกิ่งหรือปลายกิ่งสั้น ๆ ด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม ก้านช่อยาวได้ถึง 3 ซม. ก้านดอกยาว 1–2 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 0.5–1.5 มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ดอกรูปดอกเข็ม สีเขียวอมเหลือง ยาว 0.8–1.3 ซม. หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 3 เท่าของกลีบดอก ด้านนอกมีปุ่มละเอียด โคนด้านในมีขนคล้ายขนแกะ เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดบนปากหลอดระหว่างกลีบดอก ไร้ก้าน อับเรณูยาวประมาณ 1.5 มม. รังไข่มี 2 ช่อง ออวุลจำนวนมาก พลาเซนตารอบแกนร่วม ก้านเกสรเพศเมียยาวได้ถึง 1.2 ซม. ยอดเกสรจักตื้น 2 พู ผลเปลือกแข็งมีหลายเมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5–4.5 ซม. เมล็ดหนา เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. มีขนคล้ายไหม
พบที่อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร คล้ายกับ ตูมกาขาว S. nux-blanda A. W. Hill ที่มีกลีบเลี้ยงเรียวแคบและยาวกว่า ด้านนอกมีขนประปราย และผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 5–8 ซม.
สกุล Strychnos L. มีประมาณ 190 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมี 15 ชนิด หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร และเป็นพิษ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “strychnon” กลิ่นฉุน ขม ตามลักษณะของผล
| | | ชื่อสามัญ Nux vomica, Poison nut, Quaker buttons, Snake wood, Strychnine tree
| ชื่ออื่น กระจี้, กะกลิ้ง, โกฐกะกลิ้ง, ตูมกาแดง, แสลงใจ (ภาคกลาง); แสงเบือ (อุบลราชธานี); แสลงทม, แสลงเบื่อ (นครราชสีมา); โฮงบ้วยจี๊ (จีน)
| | แสลงใจ: ใบเรียงตรงข้าม เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ ออกที่ปลายกิ่ง ดอกรูปดอกเข็ม สีเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม หลอดกลีบดอกยาว ผลเปลือกแข็ง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
|
|
|