Index to botanical names
แววมยุรา
Linderniaceae
ไม้ล้มลุก ลำต้นมักเป็นเหลี่ยม ใบเรียงตรงข้าม ขอบจัก ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อกระจะตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงคล้ายรูปปากเปิด กลีบบน 3 กลีบ กลีบล่างจัก 2 พู หลอดกลีบเป็นครีบหรือปีก กลีบดอกรูปปากเปิด กลีบบนเรียบหรือเว้าตื้น กลีบล่าง 3 กลีบ บานออก เกสรเพศผู้คู่หน้ายาวกว่าคู่หลัง ส่วนมากมีเดือยที่โคน อับเรณูเชื่อมติดเป็นคู่ กางออก โคนมีรยางค์ รังไข่เรียวยาว มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรมี 2 ครีบ ผลแห้งแตกตามแนวตะเข็บ รูปขอบขนาน มีกลีบเลี้ยงติดทนหุ้ม เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมากสกุล Torenia เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Scrophulariaceae มีประมาณ 50 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 9 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตาม Reverrend Olof Torén (1718–1753) หมอสอนศาสนาและนักสำรวจชาวสวีเดน ผู้ค้นพบ T. asiatica L.
ไม้ล้มลุก สูง 10–40 ซม. มีขนสั้นนุ่มตามเหลี่ยมของลำต้น แผ่นใบด้านบน เส้นแขนงใบด้านล่าง ก้านใบ ก้านดอก และสันกลีบเลี้ยง ใบรูปไข่ ยาว 1.5–4 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มถึงกลม ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบหรือคล้ายช่อซี่ร่ม 2–4 ดอก ที่ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 1–2 ซม. ใบประดับรูปเส้นด้าย ยาว 1–3 มม. กลีบเลี้ยงยาว 1–1.2 ซม. ขยายเล็กน้อยในผล มี 5 สันเป็นครีบถึงบนก้านดอก ครีบกว้าง 1–2 มม. ดอกสีขาวอมม่วง ด้านในสีอ่อนเกือบขาว มีปื้นสีเหลือง ขอบกลีบล่างมีสีเข้ม ยาว 2–2.5 ซม. กลีบบนรูปกลม กว้างประมาณ 6 มม. ยาวประมาณ 4 มม. กลีบล่างขนาดเล็กกว่ากลีบบน เกสรเพศผู้คู่ล่างไม่มีเดือยที่โคน ผลแห้งแตก ยาว 0.8–1 ซม.พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งที่ชื้นแฉะ ชายป่า บนก้อนหินริมลำธาร ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร
ชื่อพ้อง Mimulus violaceus Azaola ex Blanco
ชื่ออื่น แววมยุรา (ภาคกลาง); หญ้าน้ำหมึก, หญ้าหิ่งน้อย (ภาคเหนือ)
แววมยุรา: ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม หลอดกลีบเลี้ยงมี 5 สันเป็นครีบถึงบนก้านดอก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
Staples, G.W. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora. Bishop Museum Press, Honolulu, Hawai`i.
Yamazaki, T. (1990). Scrophulariaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(2): 213–214.