สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

แฟบ

แฟบ
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Hymenocardia punctata Wall. ex Lindl.

Phyllanthaceae

ดูที่ แฟบน้ำ

แฟบ
วันที่ 17 สิงหาคม 2559

Terminalia nigrovenulosa Pierre

Combretaceae

ดูที่ ขี้อ้าย

แฟบน้ำ
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Hymenocardia punctata Wall. ex Lindl.

Phyllanthaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 7 ม. แยกเพศต่างต้น ส่วนต่าง ๆ มีขนและเกล็ด หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาว 1–3 มม. ร่วงเร็ว ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปรี ยาว 2.5–8.5 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนมนหรือเว้าตื้น แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดหนาแน่น ตุ่มใบเป็นขนกระจุก ก้านใบยาว 0.5–1.2 ซม. ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อหางกระรอก ยาวได้ถึง 2.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีแดงหรืออมม่วง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มม. เกสรเพศผู้ 4–5 อัน เชื่อมติดเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจะ ยาวได้ถึง 1.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มม. รังไข่มี 2 ช่อง เกสรเพศเมียไร้ก้าน ยอดเกสร 2 อัน ยาวได้ถึง 8.5 มม. ติดทน มีปุ่มยาวกระจายสีน้ำตาลแดง ผลจัก 2 พู รูปหัวใจแบน ยาวประมาณ 1.5 ซม. ส่วนมากมีเมล็ดเดียว

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่าใกล้แหล่งน้ำ ความสูงถึงประมาณ 250 เมตร ผลมีรสเปรี้ยวใช้ปรุงอาหาร

สกุล Hymenocardia Wall. ex Lindl. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Euphorbiaceae มี 9 ชนิด ส่วนมากพบในแอฟริกา ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “hymen” บาง และ “kardia” หัวใจ ตามลักษณะของผล

ชื่อพ้อง  Hymenocardia wallichii Tul.

ชื่ออื่น   ก้างปลาขาว (สุโขทัย); แควบ, แฟบ (ชลบุรี); แฟบน้ำ (ประจวบคีรีขันธ์); แฟบหัวลิง (ภาคใต้); หมักแฟบ (พิษณุโลก); หูด้าง (สุรินทร์); หูลิง (นครราชสีมา)

แฟบน้ำ: ช่อดอกเพศผู้แบบช่อหางกระรอก ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจะสั้น ๆ ยอดเกสร 2 อัน มีปุ่มสีน้ำตาลแดง ติดทน ผลจัก 2 พู รูปหัวใจแบน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)