ไม้เถาล้มลุก แยกเพศร่วมต้น มือจับไม่แยกแขนง ลำต้นสาก ใบรูปสามเหลี่ยม รูปไข่ หรือรูปหัวใจ เรียบหรือจัก 3–5 พู ยาว 4–16 ซม. แผ่นใบด้านล่างสาก มีขนหยาบตามเส้นแขนงใบ ขอบเรียบหรือจักซี่ฟันห่าง ๆ ก้านใบยาว 1–5 ซม. มีขน ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะ มี 1–3 ช่อ ก้านช่อยาว 1.5–6 ซม. มีได้ถึง 25 ดอก มักมีดอกเพศเมียปนในช่อดอกเพศผู้ แกนช่อยาว 0.5–2 ซม. ก้านดอกยาว 2–7 มม. ฐานดอกสั้น มีขนหยาบ ปากมีขน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาวประมาณ 1 มม. ก้านชูอับเรณูยาวกว่าอับเรณู ยาว 1–1.5 มม. จานฐานดอกกลมแบน ดอกเพศเมีย 1–2 ดอก คล้ายดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว 0.5–3 ซม. จานฐานดอกเป็นวง รังไข่มีขน เกสรเพศเมียมี 3 พู จักชายครุย ยาวประมาณ 2 มม. ผลสดมีหลายเมล็ด รูปรีหรือกลม ยาว 1–1.5 ซม. สุกสีแดง เมล็ดรูปไข่ แบน ยาว 3–6 มม. ผิวเป็นร่อง
พบที่พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา ชวา ฟิลิปปินส์ และซูลาเวซี ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร
สกุล Scopellaria W.J.de Wilde & Duyfjes มีเพียง 2 ชนิด ในไทยมีชนิดเดียว แยกเป็น var. penangense (C.B.Clarke) W.J.de Wilde & Duyfjes ใบไม่จักเป็นพู ส่วน S. diversifolia (Merr.) W.J.de Wilde & Duyfjes พบที่บอร์เนียว ชื่อสกุลเปลี่ยนมาจากสกุล Scopella ซึ่งไปซ้ำกับของวงศ์ Pucciniaceae ของเห็ดรา
|