สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

แตงหนู

แตงหนู
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Mukia maderaspatana (L.) M.Roem.

Cucurbitaceae

ไม้เถา มีขนสากหรือขนยาวตามลำต้น แผ่นใบ และก้านใบ ใบรูปไข่กว้างคล้ายรูปสามเหลี่ยม หรือเกือบกลม เรียบหรือจักตื้น ๆ 3–5 พู กว้าง 2–10 ซม. โคนรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ดอกเพศผู้มี 2–20 ดอก บางครั้งมีดอกเพศเมียปนในช่อดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว 2–7 มม. ฐานดอกยาว 1.5–4 มม. มีขน กลีบเลี้ยงยาว 1–1.5 มม. ดอกสีขาว กลีบรูปไข่ ยาว 1.5–4 มม. อับเรณูยาว 1–2 มม. ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ มี 1–8 ดอก ก้านดอกยาว 1–4 มม. รังไข่มีขนประปราย เกสรเพศเมียเกลี้ยง ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1.5 ซม. ก้านผลยาว 2–5 มม. มี 10–20 เมล็ด รูปไข่กลับ ยาว 3–4 มม. ผิวมีรอยบุ๋ม และตุ่มกระจาย

พบที่แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค โดยเฉพาะตามที่โล่ง ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร

ชื่อพ้อง  Cucumis maderaspatanus L.

ชื่ออื่น   แตงนก (กาญจนบุรี); แตงผีปลูก (ชัยนาท); แตงหนู (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); แตงหนูขน (ประจวบคีรีขันธ์)

แตงหนู: M. maderaspatana ใบคล้ายรูปสามเหลี่ยม จัก 3–5 พู ลำต้นมีขนสากหรือขนยาว ผลกลม (ภาพ: Brigitta E.E. Duyfjes)

แตงหนูขน
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Mukia maderaspatana (L.) M.Roem.

Cucurbitaceae

ดูที่ แตงหนู

แตงหนู  สกุล
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Mukia Arn.

Cucurbitaceae

ไม้เถาล้มลุก แยกเพศร่วมต้น มือจับไม่แยกแขนง ใบเรียงเวียน เรียบหรือจักเป็นพู ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกตามข้อ ไม่มีใบประดับ ฐานดอกรูประฆัง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดเหนือกลางหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น จานฐานดอกแบนกลม ดอกเพศเมียออกเป็นกระจุก 1–6 ดอก คล้ายดอกเพศผู้ ไร้ก้านเกสรเพศเมีย ยอดเกสรแยกเป็น 3 พู หนา ปลายแยก 2 แฉก จานฐานดอกเป็นวง ผลสดมีหลายเมล็ด เปลือกบาง เมล็ดแบน

สกุล Mukia มีประมาณ 9 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 3 ชนิด หลายชนิดบางครั้งถูกจัดให้อยู่ภายใต้สกุล Cucumis ชื่อสกุลมาจากภาษามาลายาลัมในอินเดีย “mucca-piri” หมายถึง มือจับม้วนงอ


แตงหนู
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Mukia javanica (Miq.) C.Jeffrey

Cucurbitaceae

ไม้เถา มีขนสากตามลำต้น แผ่นใบ ก้านใบ และฐานดอก ใบรูปไข่กว้าง คล้ายรูปสามเหลี่ยมหรือเกือบกลม เรียบหรือจักตื้น ๆ 3–5 พู กว้าง 2–10 ซม. โคนรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ดอกเพศผู้มี 3–6 ดอก ก้านดอกยาว 1–4 มม. ฐานดอกยาว 1.5–3 มม. กลีบเลี้ยงยาว 1–1.5 มม. ดอกสีเหลือง กลีบรูปไข่ ยาว 1.5–2.5 มม. อับเรณูยาว 1.5–2 มม. ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ มี 1–4 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 1 มม. รังไข่กลม เกลี้ยงหรือมีขน ผลรูปรี ยาว 1–1.5 ซม. ก้านยาว 1–2 มม. มี 8–18 เมล็ด รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5 มม. ขอบมีสัน ผิวมีตุ่ม

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร

ชื่อพ้อง  Karivia javanica Miq.

แตงหนู: M. javanica ใบคล้ายรูปสามเหลี่ยม จักตื้น 3–5 พู ผลรูปรี มี 1–4 ผล (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

แตงหนู
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Mukia gracilis (Kurz) W.J.de Wilde & Duyfjes

Cucurbitaceae

ไม้เถา มีขนแข็งยาว 1–5 มม. ตามลำต้น ก้านใบ และแผ่นใบ ใบรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน บางครั้งคล้ายรูปเงี่ยงใบหอก ยาว 5–12 ซม. ขอบเรียบหรือจักซี่ฟันห่าง ๆ ก้านยาว 3–7 ซม. ดอกเพศผู้มี 5–10 ดอก บางครั้งมีดอกเพศเมียด้วย ก้านดอกยาว 2–6 มม. ฐานดอกยาว 2–2.5 มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. มีขนแข็ง ดอกสีเหลือง กลีบแยกเกือบจรดโคน รูปรี ยาว 2–3 มม. อับเรณูยาวประมาณ 1 มม. ดอกเพศเมียมี 1–5 ดอก หรือมีดอกเพศผู้ปน ก้านดอกยาวประมาณ 1 มม. รังไข่มีขน ปลายเกสรเพศเมียมีขน ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 5–8 มม. มีขนกระจาย ก้านยาว 1–2 มม. มีประมาณ 5 เมล็ด รูปไข่กลับ ยาว 5–6 มม. ผิวเป็นสัน มีรอยบุ๋มกระจาย

พบที่พม่า ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 2000 เมตร

ชื่อพ้อง  Mukia maderaspatana (L.) M.Roem. var. gracilis Kurz

แตงหนู: M. gracilis ใบคล้ายรูปเงี่ยงใบหอก ลำต้นมีขนแข็งยาว ช่อดอกเพศเมียบางครั้งมีดอกเพศผู้ปน ผลกลม (ภาพ: Brigitta E.E. Duyfjes)



เอกสารอ้างอิง

de Wilde, W.J.J.O. and B.E.E. Duyfjes. (2008). Cucurbitaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(4): 471–475.