ไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. ใบประกอบปลายคี่ เรียงเวียน แกนใบประกอบยาว 10–22 ซม. โคนก้านพอง ใบย่อยมี 3–5 คู่ รูปรีหรือรูปไข่ เบี้ยวเล็กน้อย เส้นกลางใบนูนทั้งสองด้าน ก้านใบย่อยยาวประมาณ 1 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาว 10–20 ซม. ก้านช่อหนา ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ใบประดับย่อยติดทน กลีบเลี้ยงรูประฆัง เบี้ยว ยาวประมาณ 5 มม. ปลายแยกเป็นแฉกขนาดเล็กไม่เท่ากัน มีขนเป็นมันวาวทั้งสองด้าน ดอกสีชมพูถึงม่วงเข้ม ยาวประมาณ 2 ซม. กลีบกลางรูปรีกว้าง ยาว 1–1.5 ซม. โค้งออก มีแถบสีเหลืองตรงกลางด้านใน กลีบคู่ล่างยาวเท่า ๆ กลีบคู่ข้าง ปลายกลีบเชื่อมติดกัน รูปไข่กลับ ยาว 1–1.4 ซม. เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี 9 อัน อีกกลุ่มหนึ่งมี 1 อัน ยาวไม่เท่ากัน ยาว 0.7–1.2 ซม. ก้านเกสรเพศเมียโค้ง ผลรูปรีหรือรูปไข่กลับ แบน ยาว 7.5–15 ซม. ผนังผลหนา มี 1–2 เมล็ด แบน ๆ ยาว 3–4 ซม.
พบในพม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร รากใช้เบื่อปลา
สกุล Callerya Endl. ในปัจจุบันได้รวมเอาสกุล Adinobotrys, Padbruggea, Whitfordiodendron และบาง section ของสกุล Millettia เข้าไว้ด้วย ตามลักษณะช่อดอกที่เป็นแบบช่อแยกแขนงก้านช่อหนา ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน 2 กลุ่ม มีใบประดับชัดเจน กลีบเลี้ยงสมมาตรด้านข้าง มีประมาณ 19 ชนิด ส่วนมากเป็นไม้เถา พบในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัย จีน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ถึงออสเตรเลีย ในไทยมีประมาณ 5 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kallaion” แผงคอไก่ ตามลักษณะช่อดอก
|