สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

แจง

แจง
วันที่ 13 กันยายน 2559

Maerua siamensis (Kurz) Pax

Capparaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงไม่เกิน 10 ม. มีเกล็ดหุ้มยอด ใบประกอบมี 3 ใบย่อย ก้านใบยาว 1.5–6.5 ซม. ใบย่อยรูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปแถบ ยาว 2–12 ซม. ปลายกลม เว้าตื้น ๆ หรือมีติ่ง เกือบไร้ก้าน ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกสั้น ๆ ที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ก้านดอกยาว 1.5–5.5 ซม. ใบประดับรูปแถบขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 0.7–1 ซม. ติดทน ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 8–12 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 1–1.5 ซม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว 1.5–2 มม. ปลายมีติ่ง ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 1.5–2 ซม. รังไข่ติดบนก้านชูเกสรเพศเมีย (gynophore) ที่ยาวเท่า ๆ ก้านชูอับเรณู ผลมีเนื้อหลายเมล็ด รูปรีกว้างเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.5 ซม. ผิวขรุขระ ก้านผลยาว 4.5–7.5 ซม. เมล็ดรูปไต

พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทุกภาคจนถึงภาคใต้ตอนบน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง หรือตามป่าโปร่ง โดยเฉพาะเขาหินปูนเตืี้ย ๆ ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร ใบเขียวตลอดปี ใบและดอกอ่อนกินเป็นผักดองคล้ายกุ่ม

สกุล Maerua Forssk. มีประมาณ 90 ชนิด ส่วนใหญ่พบในแอฟริกาที่แห้งแล้ง ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาอาหรับ “maeru” หมายถึงดวงอาทิตย์ น่าจะหมายถึงเป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัด หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร

ชื่อพ้อง  Niebuhria siamensis Kurz

ชื่ออื่น   แกง (นครราชสีมา); แจง (ทั่วไป)

แจง: ใบประกอบมี 3 ใบย่อย ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกสั้น ๆ ก้านดอกยาว กลีบเลี้ยงติดทน ไม่มีกลีบดอก ก้านชูเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ ก้านชูอับเรณู ผลผิวขรุขระ ก้านผลยาว (ภาพ: ราชันย์ ภูมา)



เอกสารอ้างอิง

Chayamarit, K. (1991). Capparaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(3): 266–268.