Index to botanical names
แคหัวหมู
Bignoniaceae
ไม้ต้น สูง 5–15 ม. มีหูใบเทียม ใบประกอบชั้นเดียว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ยาวได้ถึง 55 ซม. ใบย่อยมี 4–8 คู่ รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 8–25 ซม. ก้านใบสั้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ คล้ายช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง ยาว 15–35 ซม. มีได้ถึง 10 ดอก ก้านดอกยาว 2–6 ซม. กลีบเลี้ยงเป็นกาบคล้ายเรือ ยาว 3.3–5.5 ซม. มีขนปุย ดอกรูปแตร สีเหลืองครีมหรืออมแดง ยาวได้ถึง 4.5 ซม. โคนหลอดกลีบรูปทรงกระบอก ยาว 2–2.6 ซม. กลีบรูปรีกว้าง ยาวได้ถึง 4.5 ซม. ด้านนอกมีต่อมกระจาย เกสรเพศผู้ 2 คู่ ยาวไม่เท่ากัน ฝักรูปแถบ ยาว 30–70 ซม. มีขนประปราย ขนปุย หรือมีตุ่มกระจาย ผนังกั้นรูปกากบาท เมล็ดกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 3–5 ซม. รวมปีกพบที่จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบกระจายแทบทุกภาค จนถึงภาคใต้ตอนบน ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร บางครั้งแยกเป็น var. kerrii Sprague และ var. pierrei (Dop) Santisuk ตามสิ่งปกคลุมบนกลีบเลี้ยง ฝัก และสีกลีบดอกสกุล Markhamia Seem. ex Baill. มีประมาณ 10 ชนิด ส่วนมากพบในแอฟริกา ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ Clements Robert Markham (1830–1916)
ชื่อพ้อง Spathodea stipulata Wall.
ชื่ออื่น ขุ่ย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); แคขอน (เลย); แคปุ๋มหมู (เชียงใหม่); แคยอดดำ (ภาคใต้); แคว (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); แคหมากลิ่ม (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); แคหมู, แคหัวหมู (ภาคกลาง); แคหางค่าง (เลย); แคอาว (นครราชสีมา)
แคหัวหมู: ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ กลีบเลี้ยงเป็นกาบ ต้นดอกสีหลืองครีม ฝักมีขนปุย ต้นดอกสีน้ำตาลแดง ฝักมีปุ่มหนาแน่น (var. pierrei) (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Santisuk, T. (1987). Bignoniaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(1): 48–52.
Zhang, Z.Y. and T. Santisuk. (1998). Bignoniaceae. In Flora of China Vol. 18: 224.