สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

แคทะเล

แคทะเล  สกุล
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Dolichandrone (Fenzl) Seem.

Bignoniaceae

ไม้ต้น ใบประกอบปลายคี่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ไม่มีหูใบเทียม ใบย่อยเรียงตรงข้าม โคนเบี้ยว ช่อดอกแบบช่อกระจะออกสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายกาบ ปลายมีจะงอย ดอกสีขาว โคนหลอดกลีบเรียวแคบ ปลายบานออกรูประฆัง แยกเป็น 5 กลีบตื้น ๆ แผ่นกลีบย่น เกสรเพศผู้ 2 คู่ ยาวไม่เท่ากัน เกลี้ยง ติดภายในหลอดกลีบดอก ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 1 อัน ลดรูป จานฐานดอกรูปเบาะ รังไข่รูปทรงกระบอกสั้น มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย เรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก ผลแห้งแตก เกลี้ยง ผนังกั้นรูปกากบาท เมล็ดเป็นคอร์ก มีปีก

สกุล Dolichandrone เคยอยู่ภายใต้สกุล Dolichandra sect. Dolichandrone มีประมาณ 10 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ในไทยมี 3 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “dolichos” ยาว และ “andros” เกสรเพศผู้ ตามลักษณะของเกสรเพศผู้


แคทะเล
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Dolichandrone spathacea (L.f.) K.Schum.

Bignoniaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. กิ่งอ่อนมักมีเมือกเหนียว ใบประกอบยาว 8–35 ซม. ใบย่อยมี 2–4 คู่ รูปไข่ถึงรูปใบหอก ยาว 7–16 ซม. ก้านใบย่อยยาว 0.4–1 ซม. ช่อดอกยาว 2–4 ซม. มี 2–8 ดอก ก้านดอกยาว 1.5–3.5 ซม. กลีบเลี้ยงยาว 3–9 ซม. หลอดกลีบดอกส่วนโคนยาว 8–13 ซม. ส่วนบานออกยาว 3–5 ซม. เกสรเพศเมียยื่นเลยพ้นปากหลอดกลีบเล็กน้อย ผลรูปแถบโค้งเล็กน้อย ยาว 30–60 ซม. ผนังกั้นแข็ง เมล็ดและปีกหนาเป็นคอร์ก ยาว 1.3–1.8 ซม. รวมปีก

พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทางภาคกลาง และภาคใต้แถบจังหวัดชายทะเล ขึ้นตามชายป่าโกงกางด้านในหรือริมแม่น้ำที่น้ำทะเลท่วมถึง เมล็ดบดมีสรรพคุณระงับประสาท จิตผิดปกติ ใบใช้ประคบแผลไฟไหม้

ชื่อสามัญ  Mangrove trumpet tree

ชื่ออื่น   แคทะเล (Trat); แคน้ำ (ภาคกลาง)

แคทะเล: หลอดกลีบดอกช่วงโคนยาวประมาณ 2 เท่าของช่วงปลายที่บานออก (ภาพ: นันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน)



เอกสารอ้างอิง

Santisuk, T. (1987). Bignoniaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(1): 52–56.

van Steenis, C.G.G.J. (1977). Bignoniaceae. In Flora Malesiana Vol. 8: 141–144.