สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

แก้วน้ำค้าง

แก้วน้ำค้าง
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Codonoboea appressipilosa (B.L.Burtt) D.J.Middleton

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. มีขนยาวหนาแน่นตามแผ่นใบทั้งสองด้าน ช่อดอก กลีบเลี้ยงด้านนอก ใบเรียงเวียน รูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ ยาว 12–18 ซม. โคนสอบ ขอบจักลึกช่วงโคน เส้นแขนงใบข้างละ 25–30 เส้น ไร้ก้าน ช่อดอกมี 1–3 ช่อ แต่ละช่อมี 1–3 ดอก ก้านช่อยาว 2.5–4 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 8 มม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาว 5–6 มม. ดอกสีขาว ยาว 4.7–5 ซม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในกลีบปากล่างมีปื้นสีเหลืองเข้ม 2 แนว ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3.8 ซม. มีขนสั้นหนาแน่น

พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่อำเภอแว้ง และสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ขึ้นตามป่าดิบชื้นใกล้ลำธาร ความสูงระดับต่ำ ๆ

ชื่อพ้อง  Henckelia appressipilosa B.L.Burtt

แก้วน้ำค้าง: ใบเรียงเวียน โคนสอบ เส้นแขนงใบจำนวนมาก ไร้ก้าน กลีบดอกด้านในกลีบปากล่างมีปื้นสีเหลืองเข้ม 2 แนว (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)

แก้วน้ำค้าง
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Codonoboea hispida (Ridl.) Kiew

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก สูง 30–50 ซม. มีขนสากตามแผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก และกลีบเลี้ยง ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3.5–11 ซม. เส้นแขนงใบข้างละ 7–12 เส้น ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ช่อดอกมี 1–3 ดอก ก้านช่อยาว 7.5 ซม. ก้านดอกยาว 5–8 มม. กลีบเลี้ยงรูปแถบ ยาว 3–8 มม. ดอกสีขาว ยาว 2.5–3 ซม. ด้านนอกมีขนกระจาย ด้านในมีขนยาวและตุ่มประปราย มีปื้นสีเหลือง 2 แนว มีเส้นสีม่วงแดงแซม ก้านเกสรเพศเมียยาว 1.3–1.8 ซม. มีขนหนาแน่น ผลยาว 3.5 ซม.

พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ของไทยที่นครศรีธรรมราช ยะลา ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1300–1400 เมตร

ชื่อพ้อง  Didymocarpus hispidus Ridl., Henckelia hispida (Ridl.) A.Weber

แก้วน้ำค้าง: ก้านใบสั้น ช่อดอกมี 1–3 ดอก กลีบเลี้ยงรูปแถบ กลีบดอกด้านในมีปื้นสีเหลือง 2 แนว มีเส้นสีม่วงแดงแซม (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)

แก้วน้ำค้าง  สกุล
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Codonoboea Ridl.

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก โคนต้นมักมีเนื้อไม้ ใบส่วนมากเรียงตรงข้าม พบน้อยที่เรียงเวียน ปลายใบส่วนมากแหลมยาวและโคนเบี้ยวเล็กน้อย ขอบมักจักฟันเลื่อย ช่อดอกแบบช่อกระจุกมีหนึ่งหรือหลายช่อ ออกตามซอกใบหรือแนบติดก้านใบ แต่ละช่อมีหนึ่งหรือหลายดอก ใบประดับขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกจรดโคน ติดทน ดอกรูปแตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ ยาวกว่าคู่บน เกสรเพศผู้ 2 อัน ติดภายในหลอดกลีบ ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก อับเรณูเชื่อมติดกัน ปลายแกนมีรยางค์คล้ายเดือยสั้น ๆ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 อัน ขนาดเล็ก จานฐานดอกเรียบ เป็นวง หรือจักเป็นพู รังไข่รูปทรงกระบอกเรียวจรดก้านเกสรเพศเมีย ยอดเกสรคล้ายโล่หรือรูปกระบอง ผลแห้งแตกตามยาวด้านบน รูปทรงกระบอก เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็ก

สกุล Codonoboea เคยอยู่ภายใต้สกุล Didymocarpus sect. Codonoboea และมีหลายชนิดเคยอยู่ภายใต้สกุล Henckelia ซึ่งเป็นสกุลที่เคยถูกยุบไปรวมกับสกุล Didymocarpus และคล้ายกับสกุล Loxocarpus ที่มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 2 อัน ผลชี้ขึ้นและแตกด้านบน แต่ผลสั้นโคนหนา ปัจจุบันมีประมาณ 120 ชนิด ส่วนมากพบในภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยมีประมาณ 14 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kodon” ระฆัง และชื่อสกุล Boea




เอกสารอ้างอิง

Burtt, B.L. (2001). Flora of Thailand: annotated checklist of Gesneriaceae. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 81–109.

Kiew, R. and C.L. Lim. (2011). Names and new combinations for peninsular Malasian species of Codonoboea Ridl. Gardens’ Bulletin Singapore 62(2): 253–275.

Middleton, D.J., A. Weber, T.L. Yao, A. Sontag and M. Möller. (2013). The current status of the species hitherto assigned to Henckelia (Gesneriaceae). Edinburgh Journal of Botany 70(3): 385–404.