สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เอื้องตาเหิน

เอื้องตาเหิน  สกุล
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Dendrobium Sw.

Orchidaceae

กล้วยไม้อิงอาศัย ขึ้นบนคบไม้หรือหิน พบน้อยที่ขึ้นบนพื้นดิน มีเหง้าหรือไม่มี ลำต้นเทียมมีหลายรูปแบบ ส่วนมากเจริญด้านข้าง บางครั้งทิ้งใบก่อนออกดอก ใบเรียงสลับระนาบเดียวหรือเรียงเวียน ปลายกาบจัก 2 พู หรือเว้าตื้น ช่อดอกส่วนมากแบบช่อกระจะ ออกตามด้านข้างหรือซอกใบ ใบประดับร่วงเร็วหรือติดทน กลีบเลี้ยงคล้ายกัน กลีบคู่ข้างเชื่อมติดโคนเส้าเกสรยืดยาวเป็นคาง (mentum) กลีบดอกแยกกัน เรียบหรือจักชายครุย กลีบปากเรียบหรือจัก 3 พู เชื่อมติดที่โคนเส้าเกสร บางครั้งมีเดือย จานฐานดอกมีสันนูน บางครั้งมีปุ่ม เส้าเกสรสั้น หนา โคนยาว ปลายจะงอย (stelidia) ชัดเจนหรือไม่ชัดเจน มีแป้นเหนียว กลุ่มอับเรณู 4 กลุ่ม แยกเป็น 2 คู่ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ไม่มีก้าน

สกุล Dendrobium อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Epidendroideae เผ่า Podochileae มีประมาณ 1100 ชนิด พบในเอเชีย รวมญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมีประมาณ 163 ชนิด ซึ่งนับว่าเป็นสกุลกล้วยไม้ที่มีมากที่สุดของไทย หรือรู้จักกันในชื่อสกุลหวาย เนื่องจากลำต้นมักมีข้อคล้ายหวาย ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “dendron” ต้นไม้ และ “bios” อาศัย ตามลักษณะวิสัยที่ส่วนมากขึ้นอิงอาศัยบนต้นไม้


เอื้องตาเหิน
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Dendrobium infundibulum Lindl.

Orchidaceae

กล้วยไม้อิงอาศัย แตกกอหนาแน่น สูงได้ถึง 50 ซม. ลำต้นขนาดเล็ก ต้นอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีดำหนาแน่น ใบรูปใบหอก ยาว 4–10 ซม. ปลายจัก 2 พู ตื้น ๆ ไร้ก้าน ช่อดอกออกใกล้ยอด มี 1–3 ดอก ดอกสีขาว โคนกลีบปากด้านในสีน้ำตาลอมส้ม กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาว 3–4 ซม. ปลายแหลม คางรูปกรวย ปลายมน กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาวกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย แต่กว้างกว่าเกือบ 2 เท่า กลีบปากรูปขอบขนาน ยาวเท่า ๆ กลีบดอก โคนด้านในมีสันนูน 3–5 สัน ปลายจัก 3 พู พูข้างกลมกว้าง พูปลายเว้าลึก ขอบจักไม่เป็นระเบียบ ด้านบนโค้งเข้ารูปตัววี เส้าเกสรยาวประมาณ 7 มม. ก้านดอกรวมรังไข่ยาว 3–4 ซม.

พบที่อินเดีย พม่า ลาว ในไทยพบกระจายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 1000–2000 เมตร คล้ายกับเอื้องแซะ D. wattii (Hook.f.) Rchb.f. ที่ดอกและกลีบปากด้านบนโค้งเข้ารูปตัววีขนาดเล็กกว่า พูกลีบปากด้านข้างขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าพูกลาง ถิ่นที่อยู่คล้าย ๆ กัน แต่พบหนาแน่นน้อยกว่าเอื้องตาเหิน ขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบเขาสูงทางภาคเหนือที่ดอยเชียงดาว และดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ภูหลวง จังหวัดเลย

ชื่ออื่น   เอื้องเงินหลวง (แม่ฮ่องสอน), เอื้องตาเหิน (ทั่วไป)

เอื้องตาเหิน: กล้วยไม้อิงอาศัย แตกกอหนาแน่น ดอกสีขาว โคนกลีบปากด้านในสีน้ำตาลอมส้ม ปลายกลีบปากจัก 3 พู พูข้างกลมกว้าง พูปลายเว้าลึก ขอบจักไม่เป็นระเบียบ ด้านบนโค้งเข้ารูปตัววี (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Seidenfaden, G. (1985). Orchidaceae genera in Thailand XII. Dendrobium Sw. Opera Botanica 83: 1–295.

Zhu, G., Z. Ji, J.J. Wood and H.P. Wood. (2009). Orchidaceae (Dendrobium). In Flora of China Vol. 25: 367.