กล้วยไม้ขนาดเล็ก อิงอาศัยหรือขึ้นบนพื้นดิน ลำลูกกล้วยออกหนาแน่น รูปกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 0.5–1 ซม. กาบหุ้มลำลูกกล้วยมีเส้นใยนูนตามยาว ใบรูปรีแคบ ยาวได้ถึง 2.5 ซม. ก้านใบสั้น ผลิใบหลังออกดอก มี 2 ใบ ช่อดอกมีดอกเดียว ออกจากปลายลำลูกกล้วย ใบประดับรูปรี ปลายแหลม ติดที่โคนดอกหุ้มรังไข่ ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของหลอดกลีบเลี้ยง ดอกสีน้ำตาลแดง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดเกือบตลอดความยาว ยาวประมาณ 1.2 ซม. ปลายแฉกยาวประมาณ 1 มม. มีติ่งแหลม กลีบดอกขนาดเล็กอยู่ภายในหลอดกลีบเลี้ยง กลีบรูปใบพาย ยาว 4.5–5.5 มม. ขอบเรียบหรือจักไม่เป็นระเบียบ เกลี้ยง กลีบปากสั้น ปลายจักตื้น ๆ 3 พู ไม่ชัดเจน เส้าเกสรสั้น คางยาวกว่าเส้าเกสรประมาณ 2 เท่า โคนมีสันนูน กลุ่มเรณู 8 กลุ่ม แยกเป็น 2 กลุ่มย่อย มีแป้นเหนียวเชื่อม ก้านดอกและรังไข่สั้นกว่าใบประดับ มีขนสั้นนุ่ม
พบที่อินเดีย ภูฏาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคตะวันออกที่เขาใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ที่ระนอง กระบี่ ขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1400 เมตร
สกุล Porpax Lindl. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Epidendroideae มีประมาณ 12 ชนิด พบในเอเชีย ในไทยมี 8 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “porpakos” หมายถึง ที่จับโล่ ตามลักษณะดอกที่ออกจากลำลูกกล้วยรูปกลมแป้นคล้ายโล่
|