สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เหมือดขน

เหมือดขน  สกุล
วันที่ 3 มกราคม 2561

Aporosa Blume

Phyllanthaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น แยกเพศต่างต้น หูใบร่วงเร็วหรือติดทน ใบเรียงเวียน มักมีต่อมตามขอบใบและมีต่อม 2 ต่อมที่โคนใบ ปลายและโคนก้านใบพอง ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ คล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกใบหรือตามกิ่ง ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก ดอกเพศเมียเรียงเวียน ใบประดับมีใบเดียว ดอกขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 3–6 กลีบ ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก เกสรเพศผู้ 2–4 อัน รังไข่มี 2 หรือ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ไร้ก้านเกสรเพศเมีย ยอดเกสรจักเป็นพูหรือแยกจรดโคน ผลแยกแล้วแตก เมล็ดมีเยื่อหุ้ม

สกุล Aporosa เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Euphorbiaceae ปัจจุบันอยู่เผ่า Antidesmeae มี 82 ชนิด พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ถึงหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 20 ชนิด หลายชนิดมีลักษณะคล้ายกันมาก เช่น นวลเสี้ยน A. octandra (Buch.-Ham. ex D.Don) Vickery เหมือดโลด A. villosa (Lindl.) Baill., A. wallichii Hook.f. และ A. yunnanensis (Pax & K.Hoffm.) F.P.Metcalf ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “aporia” ยาก หมายถึงสกุลที่ยากในการจัดจำแนก


เหมือดขน
วันที่ 3 มกราคม 2561

Aporosa ficifolia Baill.

Phyllanthaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. มีขนหยาบยาวตามกิ่งอ่อน หูใบด้านนอก เส้นแขนงใบทั้งสองด้าน ก้านใบ และช่อดอก หูใบรูปไข่ ยาวได้ถึง 1 ซม. ร่วงเร็ว ใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 8–25 ซม. ขอบเรียบ ก้านใบยาว 0.5–2.5 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนแหลมถึงกลม มีต่อมประปราย หยิกย่นตามเส้นใบ ช่อดอกออกตามซอกใบ ช่อดอกออกเป็นกระจุก 1–2 ช่อ ไร้ก้านช่อ ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็ก ช่อดอกเพศผู้ยาว 1.5–2.5 ซม. ดอกออกเป็นกระจุก 6–7 ดอก ก้านดอกยาว 0.3–1 มม. กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ รูปไข่กลับ สั้นกว่าใบประดับ เกสรเพศผู้ 2–3 อัน ยาว 1–1.5 มม. ช่อดอกเพศเมียยาว 4–7 มม. มีได้ถึง 5 ดอก ดอกไร้ก้าน กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ รูปไข่ ยาว 1.5–2.2 มม. รังไข่มี 2 ช่อง มีขนสั้นนุ่ม ยอดเกสรเพศเมียยาว 1–1.5 มม. แยก 2 แฉก ลึกประมาณกึ่งหนึ่ง ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.3 ซม. มีขนหนาแน่น เมล็ดรูปรี ยาวประมาณ 7.5 มม. เยื่อหุ้มสีส้ม

พบที่กัมพูชา และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคตะวันออกที่สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ความสูง 200–350 เมตร

เหมือดขน: มีขนหยาบยาวกระจาย หูใบรูปไข่ ขอบใบเรียบ หยิกย่นตามเส้นใบ ผลกลม มีขนหนาแน่น เมล็ดรูปรี เยื่อหุ้มสีส้ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Schot, A.M. and P.C. van Welzen. (2005). Euphorbiaceae (Aporosa). In Flora of Thailand Vol. 8(1): 81–105.