สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เสี้ยวใหญ่

เสี้ยวใหญ่
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563

Piliostigma malabaricum (Roxb.) Benth.

Fabaceae

ไม้พุ่ม รอเลื้อย หรือไม้ต้นขนาดเล็ก แยกเพศต่างต้น มีขนสั้นนุ่มตามช่อดอก ก้านดอก และตาดอก ใบรูปไข่กว้าง ยาว 5–9 ซม. ปลายแฉกตื้น ๆ โคนใบตัดหรือเว้าตื้น แผ่นใบด้านล่างมีนวล เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม เส้นใบ 9–11 เส้น ก้านใบ ยาว 2–4 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนงสั้น ๆ ยาวได้ถึง 5 ซม. ดอกหนาแน่น ใบประดับขนาดเล็กรูปสามเหลี่ยม ก้านดอกยาว 1–2 ซม. ใบประดับย่อยติดบนก้านดอก ตาดอกรูปรี ยาว 6–10 มม. ฐานดอกสั้น กลีบเลี้ยงสั้นกว่ากลีบดอกเล็กน้อย ปลายแยกเป็น 3–5 แฉก ตื้น ๆ ดอกสีขาว กลีบรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 ซม. ก้านกลีบสั้นมาก เกสรเพศผู้ 10 อัน เรียง 2 วง สั้นกว่ากลีบดอก วงนอกยาวกว่าวงในเล็กน้อย อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. เป็นหมันในดอกเพศเมีย รังไข่มีขนสั้นนุ่ม มีก้านสั้น ๆ ยอดเกสรเพศเมียรูปจาน ฝักรูปแถบ แบน ยาว 20–25 ซม. ปลายมีจะงอย มี 10–30 เมล็ด เมล็ดรูปขอบขนาน

พบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ชวา และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ภาคใต้ถึงชุมพร ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร ดอกแก้ปวดท้อง แก้บิด ใบมีสรรพคุณกระตุ้นกำหนัด แก้ไข้ เปลือกใช้พอกแผลสด

สกุล Piliostigma แยกออกมาจากสกุล Bauhinia มีลักษณะเด่นที่กลีบเลี้ยงแยกเป็น 5 กลีบช่วงปลาย ไม่บานออก มี 5 ชนิด ในไทยพบชนิดเดียว

ชื่อพ้อง  Piliostigma malabaricum (Roxb.) Benth.

ชื่ออื่น   คังโค (สุพรรณบุรี); แดงโค (สระบุรี); ป้าม (ส่วย-สุรินทร์); ส้มเสี้ยว (ภาคเหนือ); เสี้ยวส้ม (นครราชสีมา); เสี้ยวใหญ่ (ปราจีนบุรี)

เสี้ยวใหญ่: ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนงสั้น ๆ กลีบเลี้ยงสั้นกว่ากลีบดอกเล็กน้อย (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 19–20.