สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เสี้ยวฟ่อม

เสี้ยวฟ่อม
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Bauhinia viridescens Desv.

Fabaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 4 ม. แยกเพศต่างต้น หูใบปลายมีขนแข็ง ใบรูปไข่กว้าง ยาว 6–15 ซม. ปลายใบแฉกลึก ปลายแฉกมนหรือแหลม โคนเว้าตื้น ก้านใบยาว 2–5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะเรียวยาว ยาว 5–15 ซม. ใบประดับรูปลิ่มแคบ ยาว 2–5 มม. ก้านดอกยาว 2–3 มม. ใบประดับย่อยขนาดเล็ก ตาดอกรูปรีหรือรูปกระสวย ยาว 0.6–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปใบพาย ดอกสีเขียวอ่อน กลีบรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ยาว 0.7–1.2 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อัน สั้นกว่ากลีบดอก วงนอกยาวกว่าวงในเล็กน้อย เป็นหมันในดอกเพศเมีย รังไข่มีก้านสั้น ๆ ก้านเกสรเพศเมียสั้นมาก มีขนสั้นนุ่ม ยอดเกสรรูปโล่ ฝักรูปแถบ ยาว 5–7 ซม. มี 6–10 เมล็ด รูปรี แบน ยาวประมาณ 3 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ชงโค, สกุล)

พบที่จีนตอนใต้ พม่า อินโดจีน และอินโดนีเซีย ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร แยกเป็น var. hirsuta K.Larsen & S.S.Larsen พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่กาญจนบุรี มีขนหนาแน่นตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง และช่อดอก

ชื่ออื่น   บะหมะคอมี (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ส้มเสี้ยวน้อย (ปราจีนบุรี); ส้มเสี้ยวใบบาง (ประจวบคีรีขันธ์); เสี้ยวเคี้ยว (เลย); เสี้ยวน้อย, เสี้ยวป๊อก (แพร่); เสี้ยวฟ่อม (ภาคเหนือ)

เสี้ยวฟ่อม: ช่อดอกแบบช่อกระจะเรียวยาว เกสรเพศผู้เป็นหมันในดอกเพศเมีย ยอดเกสรรูปโล่ ฝักรูปแถบ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae (Bauhinia viridescens). In Flora of Thailand Vol. 4(1): 16–17.