กล้วยไม้ขึ้นบนพื้นดินหรืออิงอาศัย เหง้าสั้น ลำต้นกลม หนา ใบเรียงสลับระนาบเดียว ยาว 15–40 ซม. ใบช่วงล่างสั้น รูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ใบช่วงบนรูปใบหอกหรือรูปแถบ แผ่นใบด้านล่างมีนวล โคนเรียวยาวเป็นกาบ ช่อดอกแบบช่อกระจะออกที่ปลายกิ่ง ห้อยลงเล็กน้อย ยาว 12–15 ซม. แกนช่อยาว 3–6 ซม. มี 5–7 ดอก ใบประดับก้านช่อรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 2.5–3.5 ซม. บนแกนช่อยาว 4.5–5.5 ซม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงคล้ายกลีบดอก รูปใบหอก ยาว 6–8.5 ซม. กลีบดอกเรียวแคบกว่าเล็กน้อย กลีบปากมีปื้นสีเหลือง กลีบรูปรีหรือแกมรูปไข่ ยาว 4.5–5.5 ซม. มีแผงขนครุย 5 หรือหลายแผง สีเหลืองอมส้ม ขอบกลีบย่น โคนมีเดือย ยาว 1.5–1.8 ซม. ปลายจัก 2 พู เส้าเกสรยาวประมาณ 2 ซม. ปลายมีปีก กลุ่มเกสรเพศผู้ 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจัก 2 พู รังไข่รวมก้านดอกยาว 1.5–4.5 ซม. ผลแห้งแตก รูปขอบขนาน ยาว 3.5–4.5 ซม.
พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม และคาบสมุทรมลายู ในไทยส่วนมากพบทางภาคเหนือ กระจายห่าง ๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่จันทบุรี และภาคใต้ที่สตูล ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1000–1800 เมตร แยกเป็น var. bracteata (Roxb.) N. Pearce & P. J. Cribb หรือ เศวตสอดสีม่วง พบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่า ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย กลีบปากมีปื้นสีม่วงอมชมพู
สกุล Thunia Rchb.f. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Epidendroideae เผ่า Arethuseae มี 4 ชนิด พบเฉพาะในเอเชีย ในไทยมี 3 ชนิด ชื่อสกุลตั้งเป็นเกียรติแก่เจ้าชายแห่งเชโกสโลวะเกีย Franz Anton von Thun und Hohenstein (1786–1873)
|