ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 4 ม. แตกกิ่งหนาแน่น ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 3–10 ซม. ปลายกลมหรือเว้าตื้น โคนรูปลิ่ม แผ่นใบมีรูขนาดเล็กกระจาย ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตรงข้ามหรือตามซอกใบ ไร้ก้านหรือก้านช่อสั้นมาก ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ก้านดอกยาวประมาณ 1 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกจรดโคน หนา รูปรี ปลายกลม ยาว 5–6 มม. บิดเวียนด้านซ้าย ติดทน โคนมีต่อมสีดำ ดอกรูประฆัง สีขาว หลอดกลีบดอกยาว 3–4 มม. ด้านในมีขนยาว มี 5 กลีบ เรียงเวียนทับด้านขวาในตาดอก รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 5–6.5 มม. พับงอกลับ เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว 6–9 มม. โคนด้านนอกมีขนยาว ยื่นพ้นปากหลอดกลีบ อับเรณูติดด้านหลัง ผนังกั้นตามขวาง รังไข่รูปกระสวยเรียวเป็นก้านเกสรเพศเมีย ยาว 6–8 มม. โคนมีต่อมสีดำ รังไข่มีช่องเดียว ออวุลจำนวนมาก พลาเซนตารอบแกนรูปกลม ผลแห้งแตก โค้งงอคล้ายเขา ยาว 5–8 ซม.
พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้รวมไห่หนาน เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ เป็นไม้ในป่าโกงกาง
สกุล Aegiceras Gaertn. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Myrsinaceae มีเพียง 2 ชนิด อีกชนิดคือ A. floridum Roem. & Schult. พบที่เวียดนามตอนใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “aigos” แพะ และ “keras” เขา ตามลักษณะผล
|
ชื่อพ้อง Rhizophora corniculata L.
|
|
|
ชื่ออื่น ลำพู (ตราด); เล็บนาง (สตูล); เล็บมือนาง (ภาคกลาง, ภาคใต้); แสมแดง (ชุมพร); แสมทะเล (ปัตตานี)
|
|
เล็บนาง: ปลายใบกลมหรือเว้าตื้น ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม กลีบเลี้ยงบิดเวียนด้านซ้าย ติดทน กลีบดอกเรียงเวียนทับด้านขวาในตาดอก ดอกบานพับงอกลับ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, สุคิด เรืองเรื่อ)
|
|