สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เมี่ยงอีอาม

เมี่ยงอีอาม
วันที่ 28 เมษายน 2560

Camellia kissii Wall.

Theaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน และก้านใบ ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 5–13 ซม. ปลายแหลมยาว ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบหนา ด้านล่างมีขนประปราย ก้านใบยาว 4–8 มม. ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน ใบประดับและกลีบเลี้ยงคล้ายกัน มี 7–9 อัน รูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 2–8 มม. ร่วงเร็ว ด้านนอกมีขนละเอียดประปราย ดอกสีขาว มี 5–8 กลีบ รูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 0.8–3 ซม. ปลายมนหรือเว้าตื้น เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาว 0.6–1.5 ซม. วงนอกเชื่อมติดกันที่โคน รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ก้านเกสรเพศเมียหนา ปลายแยกเป็น 3 แฉก ผลแห้งแตก รูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 1.5–2.5 ซม. มี 1 หรือ 3 ช่อง แต่ละช่องมีเมล็ดเดียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.5 ซม.

พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ความสูง 800–2000 เมตร แยกเป็น var. confusa (Craib) T.L.Ming หรือเดิมชื่อ C. oleifera var. confusa (Craib) Sealy ใบและกลีบดอกใหญ่กว่า ผลมี 3 ช่อง ส่วน var. kissii เกสรเพศผู้ยาวกว่า และผลมีช่องเดียว

สกุล Camellia L. มีมากกว่า 120 ชนิด พบเฉพาะในเอเชีย โดยเฉพาะจีน ในไทยมี 6 ชนิด รวมทั้งเมี่ยง C. sinensis (L.) Kuntze var. assamica (J.W.Mast.) Kitam. นิยมปลูกทางภาคเหนือของไทย ดอกออกเป็นกระจุก 1–3 ดอก ก้านดอกยาว ชื่อสกุลตั้งตามนักบวชและเภสัชกรชาวเช็ก Georg Joseph Kamel (1661–1706)

ชื่ออื่น   คันโคกต้น (เลย); เมี่ยงดอง (เชียงใหม่); เมี่ยงหลวง (เลย); เมี่ยงอาม, เมี่ยงอีอาม (ภาคเหนือ); เหมือดเม็ก, เหมือดหมี (เลย)

เมี่ยงอีอาม: ดอกออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน ใบประดับและกลีบเลี้ยงคล้ายกัน ปลายกลีบดอกเว้าตื้น เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลแห้งแตก รูปรีกว้างเกือบกลม (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Keng, H. (1972). Theaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(2): 147–148.

Min, T. and B. Bartholomew. (2007). Theaceae. In Flora of China Vol. 12: 441–442.