ไม้ต้น สูง 5–20 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่ง เส้นกลางใบด้านล่าง และก้านดอก ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่ ยาว 8–20 ซม. ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบหนา ก้านใบยาว 0.5–1.2 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก 2–4 ดอก ตามซอกใบ ใบประดับคล้ายใบ 2 อัน รูปหอกกลับ ยาว 1–2 ซม. ก้านดอกยาว 2.5–4.5 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ปลายมน ติดทน ด้านนอกมีขนคล้ายไหม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน มี 5–6 กลีบ รูปไข่กลับ ด้านนอกมีขนคล้ายไหม เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูวงนอกโคนเชื่อมติดกับกลีบดอก รังไข่มีขนกำมะหยี่ มี 5 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมีย 5 อัน ที่โคนมีขนกำมะหยี่ ผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 4.5 ซม. ปลายมีรอยบุ๋ม มี 5 สัน ผนังชั้นนอกหนาฉ่ำน้ำ เมล็ดรูปไข่ ยาวประมาณ 2 มม. สีน้ำตาล
พบที่จีนตอนใต้ และพม่า ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น ความสูง 100–2350 เมตร แยกเป็น var. camelliiflora (Kurz) S. X. Yang กิ่งและแผ่นใบเกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน
สกุล Pyrenaria Blume มีประมาณ 26 ชนิด พบเฉพาะในเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ มะเฟืองป่า P. jonquieriana Pierre ex Laness. รังไข่มี 3 ช่อง ปลายผลไม่มีรอยบุ๋ม พบที่ลาวและเวียดนาม ในไทยพบที่ภูวัว จังหวัดบึงกาฬ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “pyren” หมายถึงเมล็ดเปลือกแข็งมีเนื้อหุ้ม
|