เฟินขึ้นบนดินหรือหิน เหง้าทอดเลื้อย เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มม. เกล็ดรูปแถบหรือรูปลิ่มแคบ ยาว 3–4 มม. กลางเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม ขอบสีน้ำตาลอ่อน ใบมีสองแบบ ใบไม่สร้างสปอร์จักตื้น ๆ ประมาณ 5 พู รูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 15–20 ซม. พูปลายใหญ่กว่าพูล่าง ใบที่มีขนาดใหญ่จักน้อยกว่าและพูล่างใหญ่กว่าพูปลาย พูรูปสามเหลี่ยมกว้างปลายแหลม ก้านใบมีเส้นใยฝอยหนาแน่น เส้นแขนงใบย่อยแบบร่างแห ใบสร้างสปอร์รูปสามเหลี่ยม จักลึก 3–5 พู ยาวได้ถึง 20 ซม. แต่ละพูรูปแถบ ยาวได้ถึง 10 ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง เส้นแขนงใบสีดำ ก้านใบส่วนมากยาวกว่าแผ่นใบ ยาว 20–50 ซม. สีดำเป็นเงา มีขนประปราย โคนมีเกล็ด กลุ่มอับสปอร์จำนวนมากเรียงตามขอบใบที่ม้วนงอ สปอร์สีน้ำตาลเข้ม
พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ส่วนมากขึ้นตามหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร มีศักยภาพเป็นไม้ประดับ
สกุล Calciphilopteris Yesilyurt & H.Schneid. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Cheilanthoideae แยกออกมาจากสกุล Doryopteris มี 4 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อนและออสเตรเลีย ในไทยพบ 2 ชนิด อีกชนิด คือ C. alleniae (R.M.Tryon) Yesilyurt & H.Schneid. พบทางภาคใต้ตอนล่าง ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “calx” หินปูน “philus” ชอบ และ “pteris” เฟิน หมายถึงเฟินที่ชอบขึ้นตามเขาหินปูน
|
ชื่อพ้อง Pteris ludens Wall. ex Hook., Doryopteris ludens (Wall. ex Hook.) J.Sm.
|
|
|
ชื่ออื่น กระปรอกว่าว, กูดง้อง (เลย); กูดว่าว (สตูล); กูดฮู้กวาว (ภาคเหนือ); แพนตาโก (นครศรีธรรมราช, สงขลา); เฟินราชินี (กรุงเทพฯ)
|
|
เฟินราชินี: ใบที่ไม่สร้างสปอร์จักเป็นพูตื้น ๆ ใบสร้างสปอร์จักลึก ก้านใบมีเส้นใยฝอยหนาแน่น กลุ่มอับสปอร์เรียงตามขอบใบที่ม้วนงอ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
|
|