สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เฟินก้านดำ

เฟินก้านดำ  สกุล
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Adiantum L.

Pteridaceae

เฟินขึ้นบนดินหรือหิน เหง้าสั้น ตั้งขึ้นหรือทอดเลื้อย ใบมีแบบเดียว ส่วนมากเป็นใบประกอบ 1–3 ชั้น เส้นแขนงใบบางครั้งแยกแขนงสองง่าม เห็นชัดเจนทั้งสองด้าน กลุ่มอับสปอร์เรียงบนเส้นแขนงใบที่ขอบใบ อับสปอร์รูปกลม มีก้าน และกลุ่มเซลล์ผนังหนาจำนวนมาก สปอร์มีรอยเชื่อม 3 แฉก

สกุล Adiantum อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Vittarioideae มีมากกว่า 200 ชนิด ส่วนมากพบในอเมริกาใต้ ในไทยมี 18 ชนิด หลายชนิดมีศักยภาพเป็นไม้ประดับ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “adiantos” ไม่มี หมายถึงพืชที่ไม่เปียกน้ำตามลักษณะของใบที่ไม่ซับน้ำ


เฟินก้านดำ
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Pityrogramma calomelanos (L.) Link

Pteridaceae

ดูที่ เฟินเงิน

เฟินก้านดำ
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Adiantum stenochlamys Baker

Pteridaceae

เฟินมีเหง้าสั้น ๆ ตั้งขึ้น เกล็ดสีน้ำตาลทอง รูปแถบ ยาว 7–8 มม. ใบประกอบออกเป็นกระจุก เกลี้ยง ก้านใบไม่มีร่องด้านบน ยาวได้ถึง 30 ซม. โคนก้านมีเกล็ด แผ่นใบยาว 5.5–21 ซม. ใบช่วงล่างใบประกอบ 3 ชั้น มีใบประกอบย่อยประมาณ 3 คู่ แกนกลางสีดำ คู่ล่างยาว 2.5–15 ซม. ใบย่อยรูปพัด ยาว 0.6–1.5 ซม. โคนมนหรือแหลม ปลายมนหรือจักเป็นพู แผ่นใบด้านล่างบางครั้งมีนวล มีก้านชัดเจน กลุ่มอับสปอร์เรียงตามขอบใบช่วงปลาย ต่อเนื่องรูปสี่เหลี่ยมมน ๆ หรือเรียวยาว หรือเรียงแยกกัน มี 1–8 อับสปอร์

พบที่กัมพูชา ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ มีความผันแปรสูง อาจเป็นคนละชนิดกับ A. fragiliforme C.Chr. ที่ใน Flora of Thailand ระบุว่าเป็นชื่อพ้อง

เฟินก้านดำ: ใบช่วงล่างใบประกอบ 3 ชั้น ใบย่อยรูปพัด กลุ่มอับสปอร์เรียงตามขอบใบช่วงปลาย ต่อเนื่องรูปสี่เหลี่ยมมน ๆ หรือเรียวยาว หรือเรียงแยกกัน (ภาพ: ธรรมรัตน์ พุทธไทย)

เฟินก้านดำ
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Adiantum latifolium Lam.

Pteridaceae

เฟินขึ้นบนดิน เหง้าทอดนอน เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 มม. เกล็ดสีน้ำตาลรูปแถบ ยาว 2–3 มม. ใบประกอบ 2 ชั้น รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาว 20–40 ซม. ก้านใบยาว 25–50 ซม. โคนมีเกล็ด ด้านบนและแกนกลางเป็นร่อง ใบประกอบย่อยมี 1–4 คู่ ใบช่วงปลายเป็นใบประกอบชั้นเดียว รูปสามเหลี่ยมแกมรูปขอบขนาน ยาว 7.5–15 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนาน เบี้ยว โค้งเล็กน้อย ยาว 1.5–6 ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่มกว้างหรือมน แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ขอบจักฟันเลื่อยในใบไม่สร้างสปอร์ จักตื้น ๆ ในใบสร้างสปอร์ เส้นใบแยกแขนงสองง่าม กลุ่มอับสปอร์เรียงตลอดขอบใบบน ประมาณกึ่งหนึ่งของขอบใบล่าง รูปขอบขนาน ยาว 2–5 มม.

มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน ขึ้นเป็นวัชพืชหรือแพร่พันธุ์ในธรรมชาติทั่วไปในเขตร้อน ขึ้นตามที่โล่งในป่าดิบชื้นและชายป่าพรุ ความสูงระดับต่ำ ๆ

ชื่อสามัญ  Glaucous maidenhair fern

ชื่ออื่น   ก้านดำใบนวล, เฟินก้านดำ (ทั่วไป)

เฟินก้านดำ: ใบประกอบ 2 ชั้น กลุ่มอับสปอร์เรียงตลอดขอบบน ประมาณกึ่งหนึ่งของขอบใบล่าง (ภาพ: ผาทิพย์ ช่วยเนียม)

เฟินก้านดำ
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Adiantum flabellulatum L.

Pteridaceae

เฟินมีเหง้าสั้น ๆ บางครั้งเกาะเลื้อย เกล็ดสีน้ำตาล รูปแถบ ยาว 4–8 มม. ใบจำนวนมาก รูปคล้ายตีนเป็ดหรือแบบขนนกสามชั้น ยาวได้ถึง 20 ซม. ก้านใบสีน้ำตาลเข้ม ส่วนมากยาว 10–40 ซม. แกนด้านบนเป็นร่อง มีขน ใบประกอบย่อยเรียงสลับระนาบเดียว ยาวได้ถึง 10 ซม. ใบย่อยเรียงสลับระนาบเดียว มีมากกว่าข้างละ 10 ใบ ใบย่อยรูปพัด มีก้านชัดเจน แผ่นใบกว้างได้ถึง 1.5 ซม. ช่วงปลายขอบจักฟันเลื่อย กลุ่มอับสปอร์เรียงตามขอบใบ ห่าง ๆ กัน รูปรีหรือกลม ยาวได้ถึง 5 มม.

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ภาคใต้ถึงชุมพร ขึ้นตามที่โล่งในป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร

ชื่ออื่น   กูดก้านดำ (นราธิวาส); เฟินก้านดำ (กรุงเทพฯ)

เฟินก้านดำ: ใบประกอบรูปคล้ายตีนเป็ดหรือแบบขนนกสามชั้น กลุ่มอับสปอร์เรียงตามขอบใบ ห่าง ๆ กัน (ภาพ: ธรรมรัตน์ พุทธไทย)



เอกสารอ้างอิง

Lin, Y., J. Prado and M.G. Gilbert. (2013). Pteridaceae (Adiantum). In Flora of China Vol. 2–3: 238.

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1989). Pteridaceae. In Flora of Thailand Vol. 3(2): 206–216.