สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เป้ง

เป้ง  สกุล
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Phoenix L.

Arecaceae

ปาล์มลำต้นเดี่ยวหรือแตกกอ แยกเพศต่างต้น ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงเวียนรอบลำต้น กาบเป็นเส้นใย ใบย่อยแผ่ในระนาบเดียว เรียงเดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่ม ปลายแหลม โคนก้านรูปตัววี ใบช่วงล่างเปลี่ยนรูปเป็นหนาม ใบประดับลดรูป ช่อดอกออกระหว่างใบ แยกแขนงครั้งเดียว แขนงย่อยจำนวนมากติดเป็นกลุ่มตามแกนช่อ ดอกออกเดี่ยว ๆ เรียงเวียนบนแกนช่อ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เชื่อมติดกันรูปถ้วย กลีบดอก 3 กลีบ แยกกัน เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 6 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ดอกเพศเมียสั้นกว่าดอกเพศผู้ประมาณกึ่งหนึ่ง มี 3 คาร์เพล แยกกัน มีออวุลเม็ดเดียว ยอดเกสรเพศเมียโค้ง ผลเจริญเพียงผลเดียว เปลือกเรียบ ผนังชั้นกลางสด ชั้นในบาง เมล็ดเป็นเนื้อเดียวกับเอนโดสเปิร์ม

สกุล Phoenix อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Coryphoideae เผ่า Phoeniceae มี 14 ชนิด พบในแอฟริกาและเอเชีย ในไทยมี 3 ชนิด อีกชนิดคือ ปาล์มสิบสองปันนา P. roebelenii O’Brien ขึ้นหนาแน่นตามแก่งในแม่น้ำโขง ที่เป็นไม้ประดับส่วนมากลำต้นเดี่ยว ในธรรมชาติมักแตกกอหนาแน่น ใบย่อยแผ่ระนาบเดียว นอกจากนี้ยังมีที่เป็นไม้ประดับหรือปลูกเป็นไม้ผล 2–3 ชนิด ชื่อสกุลเป็นภาษากรีกโบราณ “phoinix” หรือ “phoinikos” ที่ใช้เรียกต้นอินทผลัม

ปาล์มสิบสองปันนา: ปาล์มแตกกอ ใบย่อยแผ่ระนาบเดียว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เป้ง
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Phoenix loureiroi Kunth

Arecaceae

ปาล์มส่วนมากเป็นลำต้นเดี่ยว สูงได้ถึง 5 ม. โคนใบแห้งติดทน ใบยาวได้ถึง 2 ม. ใบย่อยข้างละ 80–130 ใบ เรียงเป็นกลุ่ม 3–4 ใบ แผ่กระจายหลายทาง ด้านล่างมักมีสีเขียวอมน้ำเงิน ใบที่เปลี่ยนรูปเป็นหนามบนก้านใบมีข้างละ 14–16 อัน เรียงยาวได้ถึง 20 ซม. ช่อดอกตั้งตรง ช่อดอกเพศผู้ ก้านช่อยาว 10–15 ซม. มีช่อย่อย 25–30 ช่อ ยาว 8–12 ซม. ดอกเพศผู้ยาว 5–8 มม. ช่อดอกเพศเมีย ก้านช่อยาว1–1.5 ม. มีช่อย่อย 30–40 ช่อ ยาว 30–40 ซม. ดอกเพศเมียยาว 3–4 มม. ช่อผลยาว 1.4–1.6 ม. โค้งลง ผลรูปรี ยาว 1–1.8 ซม. หน้าตัดกลม

พบที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย ในไทยพบแทบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง หรือบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร

ชื่อพ้อง  Phoenix humilis Royle ex Becc.

ชื่อสามัญ  Dwarf date palm

ชื่ออื่น   เป้ง, เป้งดอย (ภาคเหนือ)

เป้ง: ปาล์มลำต้นเดี่ยว ใบแห้งติดทน ใบย่อยเรียงเป็นกลุ่ม 3–4 ใบ แผ่กระจายหลายทาง ช่อผลโค้งเล็กน้อย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เป้งดอย
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Phoenix loureiroi Kunth

Arecaceae

ดูที่ เป้ง

เป้งทะเล
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Phoenix paludosa Roxb.

Arecaceae

ปาล์มแตกกอ สูงได้ถึง 5 ม. โคนใบแห้งติดทน ใบยาว 2–3 ม. ใบย่อยข้างละ 30–60 ใบ เรียงเป็นกลุ่ม 3–4 ใบ แผ่กระจายหลายทาง ด้านล่างมักมีสีเทา ใบที่เปลี่ยนรูปเป็นหนามบนก้านใบมีข้างละ 11–19 อัน เรียงยาวได้ถึง 8 ซม. ช่อดอกตั้งตรง ช่อดอกเพศผู้ ก้านช่อยาว 20–30 ซม. มีช่อย่อย 30–50 ช่อ ยาว 5–10 ซม. ดอกเพศผู้ยาว 7–9 มม. ช่อดอกเพศเมีย ก้านช่อยาว 20–30 ซม. มีช่อย่อย 20–40 ช่อ ยาว 9–30 ซม. ดอกเพศเมียยาว 3–5 มม. ช่อผลยาว 1–1.5 ม. ตั้งตรง ผลรูปรี ยาว 1–1.2 ซม. หน้าตัดแบน

พบที่อินเดีย รวมหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ บังกลาเทศ พม่า เวียดนาม คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าโกงกางหรือที่โล่งน้ำทะเลท่วมถึง

ชื่อพ้อง  Phoenix siamensis Miq.

ชื่อสามัญ  Mangrove date palm

เป้งทะเล: ปาล์มแตกกอ ขึ้นหนาแน่นตามชายป่าโกงกาง โคนใบแห้งติดทน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Barfod, A.S. and J. Dransfield. (2013). Arecaceae. In Flora of Thailand Vol. 11(3): 461–465.