สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เปล้า

เปล้า  สกุล
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton L.

Euphorbiaceae

ไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม ไม้ต้น หรือไม้เถา แยกเพศร่วมต้น สิ่งปกคลุมเป็นขนสั้นนุ่มรูปดาวและเกล็ดรังแค หูใบส่วนมากขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียนหรือเรียงหนาแน่นที่ปลายกิ่ง มีต่อมหนึ่งคู่ที่โคนใบหรือก้านใบ ใบมักมีสีส้มก่อนร่วง ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ ดอกเพศผู้จำนวนมากอยู่ช่วงปลายช่อ แต่ละใบประดับมี 1–5 ดอก ดอกเพศเมียอยู่ช่วงล่าง แต่ละใบประดับมีดอกเดียว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน มีขนสั้นนุ่ม กลีบดอก 5 กลีบ ในดอกเพศเมียส่วนมากไม่มีกลีบดอก จานฐานดอกจักเป็นพู เกสรเพศผู้ 10–20 อัน อับเรณูมี 2 ช่อง ติดที่ฐาน ในดอกเพศเมียไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่ 3 ช่อง มีขน ออวุลมี 1 เม็ดในแต่ละช่อง ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน แยกหรือเชื่อมติดกันที่โคน ปลายส่วนมากแยก 2 แฉก ติดทน ในดอกเพศผู้ไม่มีวงเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ผลแห้งแตก กลม ๆ หรือจัก 3 พู มี 3 เมล็ด แบนรี

สกุล Croton อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Crotonoideae เผ่า Crotoneae มีประมาณ 800 ชนิด พบในเขตร้อนโดยเฉพาะในอเมริกากลาง ในเอเชียมีเกือบ 100 ชนิด ในไทยมี 32 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kroton” เห็บ ตามลักษณะของเมล็ด หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร


เปล้า
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton poilanei Gagnep.

Euphorbiaceae

ดูที่ เปล้าใหญ่

เปล้า
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton argyratus Blume

Euphorbiaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. สิ่งปกคลุมหนาแน่นตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง กลีบเลี้ยง และผล หูใบยาว 2.5–5 มม. ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 14–20 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นสีเงินหนาแน่น ต่อมติดที่โคนใบ ช่อดอกยาว 12–25 ซม. ดอกเพศเมียมี 7–12 ดอก ใบประดับยาว 1–2 มม. ร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 5–6 มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 3 มม. กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 3.5 มม เกสรเพศผู้ 10–12 อัน ดอกเพศเมียก้านดอกขยายในผล กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน ยาว 4–5 มม. ไม่มีกลีบดอกหรือลดรูปเป็นเกล็ด ก้านเกสรเพศเมียแยกจรดโคน ยอดเกสรเพศเมียยาว 3–4 มม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2–1.5 ซม.

พบในภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของไทย ตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไป ขึ้นตามชายป่าดิบชื้น ที่โล่งริมลำธาร หรือสวนยางพารา ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร

ชื่ออื่น   เปล้า, เปล้าเงิน, ไม้ลอด (ภาคใต้)

เปล้า: แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นสีเงินหนาแน่น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ก้านดอกเพศเมียขยายในผล (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์, ราชันย์ ภู่มา)

เปล้าเงิน
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton argyratus Blume

Euphorbiaceae

ดูที่ เปล้า

เปล้าเลือด
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton poilanei Gagnep.

Euphorbiaceae

ดูที่ เปล้าใหญ่

เปล้าใหญ่
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton poilanei Gagnep.

Euphorbiaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. สิ่งปกคลุมหนาแน่นตามกิ่งอ่อน หูใบ ก้านใบ ช่อดอก ก้านดอก กลีบเลี้ยง และผล หูใบยาว 2–4 มม. ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 15–37 ซม. ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ต่อมติดที่โคนเส้นกลางใบด้านล่าง ก้านใบยาว 1.5–7 ซม. ช่อดอกยาว 12–40 ซม. ดอกเพศเมียมี 7–20 ดอก บานก่อนดอกเพศผู้ ใบประดับรูปขอบขนาน ยาว 3–5 มม. ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว 2–3 มม. กลีบเลี้ยงรูปรี ยาวประมาณ 2.5 มม. กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้มีประมาณ 10 อัน ดอกเพศเมียก้านดอกหนา ยาว 1–3 มม. โคนก้านมีต่อมคู่ กลีบเลี้ยงหนา รูปขอบขนาน ยาว 5–7 มม. พับงอ โคนมีขน กลีบดอกยาว 2–3 มม. ก้านเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันที่โคน ยอดเกสรยาว 3–4 มม. ผลรูปรีกว้าง ยาวประมาณ 1 ซม.

พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1800 เมตร

ชื่ออื่น   เปล้า (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); เปล้าเลือด, เปล้าหลวง (ภาคเหนือ); เปล้าใหญ่ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)

เปล้าใหญ่: ขอบใบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ดอกเพศเมียบานก่อนดอกเพศผู้ ก้านดอกและกลีบเลี้ยงหนา กลีบเลี้ยงพับงอ โคนมีขน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

เปล้าใหญ่
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton mangelong Y.T.Chang

Euphorbiaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. สิ่งปกคลุมหนาแน่นตามกิ่งอ่อนและก้านดอก หูใบยาวประมาณ 2 มม. ใบรูปขอบขนาน ยาว 10–32 ซม. ขอบจักฟันเลื่อย ต่อมติดที่โคนเส้นกลางใบด้านล่าง ก้านใบยาว 1–5 ซม. ช่อดอกมีหลายช่อ ยาว 10–35 ซม. ดอกเพศเมียมี 10–23 ดอก ใบประดับยาว 1–3 มม. โคนมีต่อมคู่ ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว 2.5–5 มม. กลีบเลี้ยงรูปรี ยาว 2.5–3 มม. กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ 10–12 อัน ดอกเพศเมียก้านดอกยาว 2–4 มม. ในผลยาว 3–5 มม. กลีบเลี้ยงรูปรี ยาว 2.5–3 มม. มีขนหนาแน่น ไม่มีกลีบดอกหรือลดรูป ก้านเกสรเพศเมียแยกกัน ยอดเกสรยาว 3–4 มม. ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6–8 มม. มีขนสั้นนุ่มประปราย

พบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยกระจายพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

ชื่ออื่น   ควะวู (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); เซ่งเค่คัง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); เปล้าหลวง (ภาคเหนือ); เปล้าใหญ่ (ภาคกลาง); เปาะ (กำแพงเพชร); สะกาวา, ส่ากูวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ห้าเยิ่ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)

เปล้าหลวง: ขอบใบจักฟันเลื่อย ใบมีสีส้มก่อนร่วง ช่อดอกมีหลายช่อ ผลรูปกลม (ภาพ: สุคิด เรืองเรื่อ, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)

เปล้าดงรัก
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton fluviatilis Esser

Euphorbiaceae

ดูที่ เปล้าน้ำ

เปล้าท่าโพ
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton stellatopilosus H.Ohba

Euphorbiaceae

ดูที่ เปล้าน้อย

เปล้าทุ่ง
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton bonplandianus Baill.

Euphorbiaceae

ไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มเตี้ย อาจสูงได้ถึง 1 ม. มีขนสีขาวดูคล้ายเป็นจุดตามกิ่งอ่อนและผล หูใบรูปเส้นด้ายขนาดเล็ก ใบเรียงเวียน ช่วงปลายคล้ายเวียนรอบข้อ รูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 3–5.5 ซม. ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบมีขนหรือเกลี้ยง ต่อมติดที่โคนเส้นกลางใบ มีเส้นใบออกจากโคนข้างละ 1 เส้น ก้านใบยาว 0.5–1.2 ซม. ช่อดอกยาว 4–12 ซม. ดอกเพศเมียมี 2–7 ดอก ใบประดับยาวประมาณ 1 มม. มีต่อมหนึ่งคู่ ดอกเพศผู้ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. กลีบดอกยาวประมาณ 1.5 มม. เกสรเพศผู้ 13–16 อัน ดอกเพศเมียเกือบไร้ก้าน กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. ไม่มีกลีบดอก รังไข่มีขนหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียแยกกัน ยอดเกสรยาวประมาณ 2 มม. ผลรูปรี ยาว 6–7 มม. เมล็ดผิวมีตุ่มละเอียด

มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไปในเขตร้อน ในไทยพบแทบทุกภาค แต่ยังไม่รายงานทางภาคเหนือ ขึ้นตามที่โล่ง ความสูงระดับต่ำ ๆ

เปล้าทุ่ง: ไม้พุ่มเตี้ย มีขนสีขาวดูคล้ายเป็นจุดตามกิ่งอ่อนและผล ขอบใบจักฟันเลื่อย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เปล้าน้อย
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton stellatopilosus H.Ohba

Euphorbiaceae

ไม้พุ่ม อาจสูงได้ถึง 6 ม. แตกกิ่งต่ำ มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน หูใบ ดอก ใบอ่อน หูใบยาว 3–4 มม. ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 6–18 ซม. โคนเรียวสอบมน ขอบใบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ต่อมติดที่โคนใกล้ก้านใบ ก้านใบยาว 0.5–2.5 ซม. ช่อดอกยาว 7–10 ซม. ดอกเพศเมียมี 4–10 ดอก มักบานก่อนหรือติดเป็นผลช่วงดอกเพศผู้บาน ใบประดับยาว 1.5–2 มม. ไม่มีต่อม ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว 2–6 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2.5 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน ดอกเพศเมียก้านดอกยาว 4–6 มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 3 มม. ไม่มีกลีบดอก ก้านเกสรเพศเมียแยกกัน ยอดเกสรยาวประมาณ 3 มม. ผลรูปรีกว้าง กว้างประมาณ 6 มม. ยาวประมาณ 5 มม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร ใบมีสารเปลาโนทอล มีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ได้รับการผลิตเป็นยาภายใต้ชื่อ ‘Kelnac’ เคยเข้าใจว่าชื่อวิทยาศาสตร์คือ C. sublyratus Kurz ซึ่งพบเฉพาะในเอเชียใต้

ชื่ออื่น   เปล้าท่าโพ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); เปล้าน้อย (ปราจีนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์)

เปล้าน้อย: C. stellatopilosus ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ดอกเพศเมียมักบานก่อนหรือติดเป็นผลช่วงดอกเพศผู้บาน ผลรูปรีกว้าง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เปล้าน้อย
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton decalvatus Esser

Euphorbiaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 3 ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม หูใบยาว 2–4 มม. ใบรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ยาว 12–30 ซม. โคนแหลมมน คล้ายรูปหัวใจตื้น ๆ ขอบจักฟันเลื่อยตื้น ๆ ต่อมติดที่โคนข้างเส้นกลางใบด้านล่าง ก้านใบยาว 0.4–1.6 ซม. ช่อดอกยาวได้ถึง 12 ซม. ก้านดอกยาว 2–3.5 มม. ดอกเพศเมียจำนวนมาก ใบประดับยาว 3–5 มม. ดอกเพศผู้กลีบเลี้ยงและกลีบดอกยาวประมาณ 2.5 มม. เกสรเพศผู้มีประมาณ 12 อัน ดอกเพศเมียกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 4 มม. ไม่มีกลีบดอก ก้านเกสรเพศเมียแยกกัน ยาวประมาณ 4 มม. ยอดเกสรแยก 2 แฉกใกล้โคน ผลรูปรี โค้งเล็กน้อย ยาว 7–9 มม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ความสูง 100–500 เมตร

เปล้าน้อย: ใบรูปใบหอก ใบมีสีส้มก่อนร่วง ขอบจักฟันเลื่อยตื้น ๆ ดอกเพศเมียจำนวนมาก (มานพ ผู้พัฒน์)

เปล้าน้ำ
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton fluviatilis Esser

Euphorbiaceae

ไม้พุ่มทนน้ำท่วม อาจสูงได้ถึง 5 ม. กิ่งอ่อน ยอดมีขนสั้นนุ่ม หูใบยาว 3–5 มม. ใบรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 10–17 ซม. โคนแหลมมน ขอบจักไม่ชัดเจน ต่อมติดที่โคนติดก้านใบ ก้านใบยาว 1–3.5 ซม. ช่อดอกยาว 7–19 ซม. ดอกเพศเมียมี 4–12 ดอก ใบประดับยาว 2–3.5 มม. ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว 4–5 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกยาวประมาณ 2.5 มม เกสรเพศผู้ 10–12 อัน ดอกเพศเมียก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. ในผลยาว 4–8 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกขยายในผลเล็กน้อย ปลายมีติ่งแหลม บางครั้งไม่มีกลีบดอก ก้านเกสรเพศเมียแยกกัน ยอดเกสรยาว 3–5 มม. แฉกลึก ผลรูปรีกว้าง จัก 3 พู กว้างประมาณ 8 มม. มีขนประปราย

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกที่อุบลราชธานี สุรินทร์ ขึ้นริมลำธารในป่าดิบแล้งที่เป็นดินทราย ความสูง 100–250 เมตร เป็นชนิดเดียวในสกุล Croton ของไทยที่เป็นพืชทนน้ำท่วม (rheophyte)

ชื่ออื่น   เปล้าดงรัก, เปล้าน้ำ (ทั่วไป)

เปล้าน้ำ: ใบรูปใบหอกหรือรูปแถบ ขอบจักไม่ชัดเจน ก้านดอกเพศผู้ยาวกว่าก้านดอกเพศเมีย ก้านเกสรเพศเมียแยกกัน ยอดเกสรเพศเมียแฉกลึก ผลจัก 3 พู (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เปล้าภูวัว
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton poomae Esser

Euphorbiaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. สิ่งปกคลุมหนาแน่นตามกิ่งอ่อน หูใบ แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก ดอก และผล หูใบยาว 0.8–1.2 ซม. ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 15–28 ซม. โคนมนคล้ายรูปหัวใจแคบ ๆ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นสีเงินหนาแน่นและมีขนสีน้ำตาลแดงกระจาย ต่อมติดด้านโคนข้างเส้นกลางใบ ช่อดอกมีหลายช่อ ยาวได้ถึง 20 ซม. ดอกเพศเมียมี 2–7 ดอก ใบประดับยาว 1–1.5 มม. ไม่มีต่อม ดอกเพศผู้ก้านดอกยาวประมาณ 1 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกยาวประมาณ 3 มม. กลีบดอกขอบมีขนครุย เกสรเพศผู้มีประมาณ 10 อัน ดอกเพศเมียก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 5 มม. ไม่มีกลีบดอก ก้านเกสรเพศเมียแยกกัน ยอดเกสรยาว 2–3 มม. ผลรูปรีกว้าง ยาว 1.5–1.7 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่ภูวัว จังหวัดบึงกาฬ ขึ้นตามชายป่าหรือในป่าดิบแล้ง ความสูง 200–300 เมตร คำระบุชนิดตั้งตามชื่อ ดร.ราชันย์ ภู่มา ผู้เก็บตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ

เปล้าภูวัว: โคนมนคล้ายรูปหัวใจแคบ ๆ ขอบเรียบ สิ่งปกคลุมสีน้ำตาลแดงกระจาย ช่อดอกมีหลายช่อ ดอกเพศเมียไม่มีกลีบดอก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เปล้าหลวง
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton poilanei Gagnep.

Euphorbiaceae

ดูที่ เปล้าใหญ่

เปล้าหลวง
วันที่ 30 มกราคม 2560

Croton mangelong Y.T.Chang

Euphorbiaceae

ดูที่ เปล้าใหญ่



เอกสารอ้างอิง

Esser, H.-J.(2017). The correct name of Croton roxburghii N.P.Balakr., nom. Illeg. (Euphorbiaceae). Thai Forest Bulletin (Botany) 45(1): 25–28.

Esser, H.-J. (2005). Euphorbiaceae (Croton). In Flora of Thailand Vol. 8(1): 189–226.

Esser, H.-J. (2002). Croton poomae (Euphorbiaceae), a new species from Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 30: 1.

Esser, H.-J. and K. Chayamarit. (2001). Two new species and a new name in Thai Croton (Euphorbiaceae). Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 55–56.