สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เน่าใน

เน่าใน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Ilex micrococca Maxim.

Aquifoliaceae

ไม้ต้น สูง 10–20 ม. แยกเพศต่างต้น กิ่งมีช่องอากาศ หูใบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 7–13 ซม. ปลายแหลมยาว ขอบจักฟันเลื่อยหรือเกือบเรียบ ก้านใบยาว 1.5–3.2 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง แต่ละช่อแยกแขนงมี 3–4 ช่อย่อย ก้านช่อยาวประมาณ 1 ซม. ก้านดอกยาว 2–3 ซม. ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ดอกเพศผู้กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5–6 กลีบ กลีบเลี้ยงรูปจาน แฉกตื้น ๆ กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5 มม. โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ 5–6 อัน ยาวเท่า ๆ กลีบดอก รังไข่เป็นหมัน ดอกเพศเมียกลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 6–8 กลีบ กลีบเลี้ยงแฉกลึก ติดทน กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาวประมาณกึ่งหนึ่งของกลีบดอก รังไข่เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียรูปจาน ติดทน ผลผนังชั้นในแข็ง กลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มม. สีแดงสด มี 6–8 ไพรีน

พบที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน ไห่หนาน เวียดนาม และญี่ปุ่น ในไทยพบเฉพาะทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และภาคใต้ที่พังงา ขึ้นตามชายป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 500–1700 เมตร

สกุล Ilex L. มี 500–600 ชนิด พบในเขตร้อน และเขตอบอุ่น ในไทยมีประมาณ 16 ชนิด ชื่อสกุลเป็นภาษาละตินที่ใช้เรียก Ilex aquifolium L. หรือ holly ที่ผลมีสีแดง และยังหมายถึง Quercus ilex L. หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร

เน่าใน: ปลายใบแหลมยาว ขอบจักฟันเลื่อย ผลสีแดงสด (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เน่าใน
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Shorea obtusa Wall. ex Blume

Dipterocarpaceae

ดูที่ เต็ง



เอกสารอ้างอิง

Chen, S.K., H. Ma, Y. Feng, G. Barriera and P. Loizeau. (2008). Aquifoliaceae. In Flora of China Vol. 11: 434.