สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เนียมนกเขา

เนียมนกเขา  สกุล
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Salomonia Lour.

Polygalaceae

ไม้ล้มลุก รากมีกลิ่นหอม กิ่งเป็นเหลี่ยมหรือมีปีก ใบเรียงเวียน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดเท่า ๆ กัน เชื่อมติดกันที่โคน ติดทน กลีบดอก 3 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบบน 2 กลีบ เชื่อมติดกลีบล่างประมาณกึ่งหนึ่ง กลีบล่างรูปเรือหุ้มเกสรเพศผู้และเพศเมีย เกสรเพศผู้มี 4–6 อัน เชื่อมติดกันเป็นแผ่นหุ้มยอดเกสรเพศเมีย รังไข่ 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียโค้ง ผลแห้งแตก ขอบมีแนวขน 2 แนว ผิวเกลี้ยง เป็นร่างแห มีขนหรือรยางค์คล้ายหนาม แต่ละช่องมีเมล็ดเดียว ไม่มีเยื่อหุ้ม

สกุล Salomonia คล้ายกับสกุล Polygala กลีบเลี้ยงขนาดไม่เท่ากัน คู่ในไม่ขยายเป็นแผ่นคล้ายกลีบดอก มี 5 ชนิด พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ถึงออสเตรเลีย ในไทยพบทั้ง 5 ชนิด ชนิด S. kradungensis H. Koyama คล้ายกับเนียมนกเขา แต่ใบไร้ก้าน และผลมีผิวเป็นรยางค์คล้ายหนาม พบที่ลาว และภูกระดึง จังหวัดเลย ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “salos” อารมณ์ที่ไม่มั่นคง และ “monos” เดี่ยว ๆ อาจหมายถึงกลิ่นหอมของราก หรือตั้งตาม Salomon (Solomon) กษัตริย์ของอิสราเอล ช่วง 937–973 ปีก่อนคริสต์ศักราช


เนียมนกเขา
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Salomonia cantoniensis Lour.

Polygalaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. แตกกิ่งจำนวนมาก ลำต้นมี 3 ปีก เกลี้ยง ใบรูปสามเหลี่ยมกว้าง โคนตัดหรือรูปหัวใจ ยาว 1–2.5 ซม. ปลายมีติ่งแหลม ก้านใบยาว 1–3 มม. ช่อดอกยาวได้ถึง 10 ซม. ใบประดับยาว 0.6–1 มม. ดอกส่วนมากสีชมพูอมม่วง กลีบเลี้ยงยาว 0.4–0.6 มม. กลีบดอกยาว 1.8–2.5 มม. ผลยาว 1.5–2.2 มม. ผิวมีร่างแห บางครั้งมีขนประปราย ขอบมีแถบขนคล้ายหนาม 4–14 อัน ตรงหรือเป็นตะขอ ยาว 0.1–0.7 มม.

พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร ทั้งต้นมีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายจากสภาวะตกเลือด

ชื่ออื่น   เนียมนกเขา (ประจวบคีรีขันธ์); หมากดิบน้ำค้าง (ตราด)

เนียมนกเขา: ลำต้นแตกกิ่ง มี 3 ปีก เกลี้ยง ใบรูปสามเหลี่ยมกว้าง โคนตัด ผลขอบมีแถบขนคล้ายหนาม 4–14 อัน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Chen, S.K., H. Ma and J.A.N. Parnell. (2008). Polygalacece. In Flora of China Vol. 11: 158.

Pendry, C.A. (2001). Polygalaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 520–524.