สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เท้ายายม่อมหลวง

เท้ายายม่อมหลวง
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Melochia umbellata (Houtt.) Stapf

Malvaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. กิ่งอ่อนมีขนรูปดาวหนาแน่น หูใบรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปหัวใจ ยาว 10–24 ซม. เส้นโคนใบ 5 เส้น ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 5–15 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ก้านช่อยาว 2–15 ซม. ช่อดอกย่อยแบบช่อซี่ร่ม ดอกสีชมพูหรือขาว ก้านดอกยาว 3–4 มม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย แยกเป็น 5 แฉก รูปสามเหลี่ยมแคบ มีขนทั้งสองด้าน กลีบดอก 5 กลีบ แยกจรดโคน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 5–6 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน โคนเชื่อมติดกัน ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่มี 5 สัน มีขน ก้านเกสรเพศเมีย 5 อัน แยกกัน รูปเส้นด้าย ยอดเกสรแหลม ผลแห้งแตก รูปรี ยาว 1–1.5 ซม. มี 5 สัน ส่วนมากมี 1 เมล็ดในแต่ละช่อง ยาว 6–7 มม. รวมปีก

พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย นิวกีนี และออสเตรเลีย

สกุล Melochia L. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Sterculiaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Byttnerioideae มี 50–60 ชนิด ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิด คือ เส็งเล็ก M. corchorifolia L. เป็นไม้พุ่มเตี้ย ใบรูปไข่ถึงรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ชื่อสกุลอาจมาจากภาษากรีก “meli” น้ำผึ้ง และ “echo” ถือ หมายถึงดอกไม้ที่ให้น้ำหวาน

ชื่อพ้อง  Visenia umbellata Houtt.

ชื่ออื่น   เท้ายายม่อมหลวง (ภาคเหนือ); ปอดำ (สุราษฎร์ธานี); เปอ (ตรัง); ฝ้ายผีใหญ่ (ตราด); สาดำ (ภาคเหนือ)

เท้ายายม่อมหลวง: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม ก้านเกสรเพศเมีย 5 อัน ผลมี 5 สัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 590–595.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China Vol. 12: 320.