สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เท้ายายม่อม

เท้ายายม่อม
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze

Dioscoreaceae

ไม้ล้มลุก หัวมีแป้ง ใบรูปฝ่ามือ กว้างได้ถึง 120 ซม. ยาวได้ถึง 70 ซม. มี 3 แฉก แฉกจักเป็นพู ก้านใบยาว 20–170 ซม. รวมกาบ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม มี 1–2 ช่อ ยาวได้ถึง 2 ม. ดอกหนาแน่น ใบประดับ 4–12 ใบ เรียง 2 วง รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ยาว 2.5–10 ซม. ใบประดับย่อยรูปเส้นด้าย ยาว 10–25 ซม. ติดทน ดอกสีเขียวอมเหลือง กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง วงนอกรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 4–7 มม. วงในรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 5–8 มม. เกสรเพศผู้ 6 อัน ปลายมีแผ่นคล้ายตะขอแนบติดอับเรณู ก้านเกสรเพศเมียสั้น ผลรูปรีกว้าง เป็นสัน ห้อยลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ว่านค้างคาว, สกุล)

พบที่แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ ป่าชายหาด หัวใต้ดินใช้ทำแป้งเท้ายายม่อม

ชื่อพ้อง  Leontice leontopetaloides L., Tacca pinnatifida J.R.Forst. & G.Forst.

ชื่อสามัญ  Polynesia arrowroot

ชื่ออื่น   เท้ายายม่อม (ภาคกลาง); บุกรอ (ตราด); ไม้เท้าฤๅษี, สิงโตดำ (กรุงเทพฯ)

เท้ายายม่อม: ใบประดับรูปใบหอก ใบประดับย่อยรูปเส้นด้าย ติดทน ผลเป็นสัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (1993). Taccaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(1): 5–7.