ไม้พุ่ม สูง 1–5 ม. มีขนรูปดาวตามกิ่ง แผ่นใบ กลีบเลี้ยง และผล หูใบรูปแถบ ยาว 0.5–1 ซม. ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปหัวใจหรือคล้ายฝ่ามือ 3–5 แฉก กว้าง 4–18 ซม. ยาว 8–22 ซม. โคนเบี้ยวเล็กน้อย ขอบจักฟันเลื่อยตื้น ๆ หรือเรียบ เส้นโคนใบข้างละ 1–3 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 18 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ยาว 5–10 ซม. ออกตรงข้ามใบหรือปลายกิ่ง มี 1–5 ดอก ห้อยลง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกจรดโคน รูปขอบขนาน ยาว 1.5–1.8 ซม. ติดทน ดอกสีม่วงอมแดง มี 5 กลีบ เรียงตรงข้ามกลีบเลี้ยง รูปใบพาย ยาว 2–2.5 ซม. โคนเรียวแคบเป็นก้านสั้น ๆ แนบติดเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน เกสรเพศผู้ 15 อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อับเรณูแยกเป็น 5 กลุ่ม ติดระหว่างเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันที่มี 5 อัน ติดหันออก เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันขอบมีขนครุย รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียรูปกระสวย จัก 5 พู ผลแห้งแตก รูปกรวย ปลายตัด ตั้งขึ้น กว้างยาว 4–6 ซม. สูง 2.5–3 ซม. มี 5 สันเป็นปีก ก้านผลยาวได้ถึง 4 ซม. เมล็ดจำนวนมาก สีดำ ขนาดประมาณ 2 มม.
พบที่อินเดีย จีน เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามที่โล่งริมลำธารในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น หรือบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร เปลือกใช้ทำเชือก รากและใบใช้ขับระดู ขับปัสสาวะ มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด และรักษาโรคฝีหนอง
สกุล Abroma Jacq. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Sterculiaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Byttnerioideae มีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “broma” อาหาร และ “a” ไม่ หมายถึงพืชที่ไม่ใช่อาหาร
|