สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เทียน

เทียน  สกุล
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens L.

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม ลำต้นส่วนมากอวบน้ำ ใบเรียงเวียน เรียงตรงข้าม หรือเรียงรอบข้อ ไม่มีหูใบหรือมีต่อมคล้ายหูใบ ขอบส่วนมากจักฟันเลื่อย ปลายจักมักมีต่อมเป็นติ่ง ดอกสมมาตรด้านข้าง ออกเดี่ยว ๆ เป็นคู่ เป็นกระจุก หรือเป็นช่อคล้ายช่อกระจะหรือช่อซี่ร่ม ส่วนมากออกตามซอกใบ ใบประดับขนาดเล็ก ส่วนมากติดที่โคนก้านดอก กลีบเลี้ยง (lateral sepals) มี 2 หรือ 4 กลีบ คู่ในมักมีขนาดเล็กหรือลดรูป กลีบปาก (lower sepal) รูปเรือ รูปกรวย หรือเป็นถุง มักมีเดือยเรียบหรือจัก 2 พู กลีบดอก 5 กลีบ กลีบกลาง (upper petal) บานออกหรือเป็นคุ่ม มักมีสันด้านบน กลีบข้างหรือกลีบปีก (lateral united petals) เชื่อมติดกัน หรือแยกเป็นกลีบคู่นอก (basal wings) และกลีบคู่ใน (distal wings) เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อับเรณูติดกันเป็นวงคล้ายหมวก มีรังไข่และยอดเกสรเพศเมียล้อมรอบ อับเรณูมี 2 ช่อง รังไข่มี 4–5 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสร 1–5 อัน ผลแห้งแตก รูปกระบองหรือรูปกระสวย บางครั้งเต่งกลาง เมล็ดขนาดเล็ก

สกุล Impatiens เป็นหนึ่งในสองสกุลของวงศ์ อีกสกุลคือ Hydrocera กลีบปีกแยกกัน ผลแบบผลสดมีหลายเมล็ด ในไทยพบทั้ง 2 สกุล สกุล Impatiens มีประมาณ 1000 ชนิด ส่วนมากพบในแอฟริกา และเอเชีย ในไทยมีมากกว่า 80 ชนิด และมีหลายชนิดนำเข้ามาเป็นไม้ประดับ เช่น เทียนดอก I. balsamina L. เทียนนิวกินี I. hawkeri W. Bull เทียนซีลอน I. repens Moon ex Wight และเทียนฝรั่ง I. walleriana Hook.f. เป็นต้น ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “impatient” หมายถึงการแตกของผลอย่างรวดเร็ว

เทียนดอก: มีทั้งดอกซ้อนและหลากสี ผลเต่งกลาง มีขน(ราชันย์ ภู่มา)

เทียนเขาปูน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens jiewhoei Triboun & Suksathan

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 70 ซม. ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน มีต่อมคู่ที่โคนใบ ก้านใบยาว 1–7.5 ซม. ดอกสีม่วง ออกเดี่ยวๆ หรือเป็นคู่ ก้านดอกยาว 0.5–1.5 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คู่นอกรูปไข่ ยาว 0.5–1 ซม. ปลายมีติ่งแหลม คู่ในยาวประมาณ 3 มม. กลีบปากเป็นถุง มีริ้วสีน้ำตาลแดง กว้างประมาณ 1.5 ซม. ลึกประมาณ 1.8 ซม. เดือยโค้งงอ ยาวประมาณ 1 ซม. กลีบดอกกลีบกลางคล้ายรูปหัวใจ ยาวประมาณ 2 ซม. พับงอ ปลายกลีบเว้าตื้น กลีบปีกปลายกลีบเว้าตื้น คู่นอกรูปไข่ ยาวประมาณ 2.3 ซม. โคนมีปื้นสีเหลือง กลีบคู่ในรูปไข่ ยาวประมาณ 1 ซม. พับงอ ผลรูปกระบอง ยาว 1.5–2.5 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูงประมาณ 100 เมตร คำระบุชนิดตั้งตาม Tan Jiew-Hoe ประธานสมาคมการจัดสวนของสิงคโปร์

ชื่ออื่น   เทียนเขาปูน, ม่วงกาญจนา (ทั่วไป)

เทียนเขาปูน: กลีบปากโคนมีริ้วสีน้ำตาลแดง เดือยโค้งงอ ปลายมีสีเข้ม ปลายกลีบปีกเว้าตื้น โคนกลีบคู่นอกมีปื้นสีเหลือง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เทียนเชียงดาว
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens chiangdaoensis T.Shimizu

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูง 10–50 ซม. มีขนหยาบตามแผ่นใบด้านบน ก้านดอก ใบประดับ กลีบเลี้ยง กลีบดอก และผล ใบเรียงเวียนหรือเรียงตรงข้ามตามโคนต้น รูปไข่กลับแกมรูปใบหอก ขอบจักมนห่าง ๆ มีต่อมคู่ใกล้โคน ขอบใบมีขนครุย ก้านใบยาวได้ถึง 1 ซม. ดอกสีม่วง ออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกยาว 3–5 ซม. กลีบเลี้ยง 2 กลีบ รูปแถบหรือรูปใบหอก ยาว 3–5 มม. กลีบปากรูปกรวย กว้าง 6–8 มม. ลึก 5–7 มม. ปลายมีรยางค์แข็ง เดือยโค้ง ยาว 2–3 ซม. กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจ กว้าง 1.2–1.4 ซม. สันด้านบนเป็นปีกแคบ ๆ ปลายมีรยางค์ กลีบปีกแฉกลึก คู่ในรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายกลีบเว้าตื้น คู่นอกยาวกว่าเล็กน้อย ผลเต่งกลาง ยาวประมาณ 1.5 ซม. เมล็ดมีขนละเอียด

พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคเหนือที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามหินปูนที่โล่ง ความสูง 1000–2000 เมตร

เทียนเชียงดาว: มีขนหยาบตามแผ่นใบด้านบน ก้านดอก ใบประดับ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก และผล กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจ กลีบปีกแฉกลึก (ภาพ: ประทีป โรจนดิลก, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

เทียนเมืองกาญจน์
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens kanburiensis T.Shimizu

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นตามกิ่งอ่อน ก้านใบ และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 4.5 ซม. มีต่อมคู่ที่โคนขอบใบ ก้านใบยาว 1–2 ซม. ดอกสีขาวอมม่วง ออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกยาว 0.5–1.5 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คู่ในขนาดเล็ก คู่นอกเชื่อมติดกันเป็นกระเปาะ ปลายแยก 2 แฉกตื้น ๆ ปลายมีติ่งแหลม กลีบปากเป็นถุง กว้างประมาณ 8 มม. ด้านในมีจุดสีน้ำตาลอมเหลือง โคนมีปื้นสีเหลือง เดือยสั้น ๆ 1 คู่ กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายมีติ่งแหลม กลีบปีกยาวประมาณ 2 ซม. คู่นอกยาวประมาณ 1.2 ซม. ปลายเว้าตื้น ที่โคนมีเขา ผลเต่งกลาง เมล็ดมีขนสั้นนุ่ม

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูง 100–350 เมตร

เทียนเมืองกาญจน์: กลีบเลี้ยงคู่นอกเชื่อมติดกันเป็นกระเปาะ ปลายแยก 2 แฉก เดือยสั้น มี 1 คู่ กลีบดอกกลีบกลางปลายมีติ่งแหลม กลีบปีกคู่นอกปลายกลีบเว้า โคนมีเขา (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

เทียนแพงพวย
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens spectabilis Triboun & Suksathan

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 40 ซม. มีรากตามข้อใกล้โคน ใบเรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปใบหอก ยาว 5–11 ซม. ขอบใบจักฟันเลื่อยตื้น ห่าง ๆ โคนมีต่อมคู่รูปกระบอง ก้านใบยาว 1–3.5 ซม. ดอกสีชมพูอมม่วง ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ ก้านดอกยาวได้ถึง 3 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คู่นอกรูปไข่ ยาว 0.6–1 ซม. คู่ในลดรูปคล้ายเกล็ด กลีบปากรูปกรวยตื้น ๆ กว้างประมาณ 1.4 ซม. ลึกประมาณ 6 มม. เดือยเรียวโค้ง ยาวประมาณ 4.5 ซม. กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจ ยาวประมาณ 1.3 ซม. กลีบปีกแฉกลึก ขนาดเท่า ๆ กัน รูปไข่กลับ ยาว 1.7–2.3 ซม. ปลายมีติ่ง โคนชิดกัน ผลเต่งกลาง

พบที่พม่า ในไทยพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูง 100–200 เมตร

ชื่ออื่น   เทียนชมพู, เทียนแพงพวย (ทั่วไป)

เทียนแพงพวย: ขึ้นหนาแน่นขึ้นตามเขาหินปูน เดือยเรียวโค้ง กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจ กลีบปีกขนาดเท่า ๆ กัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)

เทียนใต้
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens platypetala Lindl.

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูง 30–50 ซม. มีเหง้า ลำต้นเกลี้ยง หูใบเป็นต่อม ใบเรียงตรงข้ามหรือเรียงรอบข้อ รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ยาวได้ถึง 12 ซม. ขอบจักตื้นห่าง ๆ แผ่นใบมีขนยาวประปรายด้านล่าง มีนวล ก้านใบยาว 0.5–4 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ สีม่วง ก้านดอกยาว 3–7 ซม. กลีบเลี้ยง 2 กลีบ เป็นติ่งแหลม ยาว 8–9 มม. กลีบปากรูปเรือ เดือยยาว 2–4 ซม. กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่กลับกว้าง ยาวประมาณ 1.5 ซม. ปลายเว้าตื้น เส้นกลางกลีบเป็นสันปีก มีขน กลีบปีกแยกกัน ยาว 2–2.5 ซม. คู่นอกมักยาวกว่าคู่ในเล็กน้อย ปลายกลีบจัก 2 พู โคนกลีบสีเข้ม ผลเต่งกลาง ยาว 1.5–2 ซม. เมล็ดมีขนยาว

พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา และชวา ในไทยพบทางภาคใต้ที่ระนอง สุราษฎร์ธานี ยะลา ปัตตานี ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้น และบนเขาหินปูน ความสูง 200–500 เมตร คล้ายเทียนป่า I. griffithii Hook.f. & Thomson var. sarcantha (Hook.f. ex Ridl.) T. Shimizu แต่เทียนป่าช่วงโคนลำต้นทอดเลื้อย ลำต้นและใบมีขนยาว ก้านใบเกือบไร้ก้านหรือมีก้านสั้น ๆ

ชื่อพ้อง  Impatiens betongensis Craib

เทียนใต้: ลำต้นเกลี้ยง ใบเรียงเวียนรอบข้อ 3–5 ใบ รูปใบหอก ขอบจักตื้น ห่าง ๆ ก้านดอกยาว ดอกออกเดี่ยว ๆ กลีบปีกแยกกัน ผลเต่งกลาง (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)

เทียนก้ามกุ้ง
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens masonii Hook.f.

Balsaminaceae

ดูที่ เทียนทุ่ง

เทียนคำ
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens longiloba Craib

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 3–11 ซม. ขอบจักมนถี่ มีต่อมคู่ใกล้โคน ก้านใบยาวได้ถึง 3 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ก้านช่อยาว 3–5 ซม. มี 2–4 ดอกในแต่ละช่อ ก้านดอกยาว 1–1.5 ซม. ใบประดับย่อยรูปเรือ ยาวประมาณ 4 มม. ร่วงเร็ว ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คู่นอกรูปไข่ ยาวประมาณ 6 มม. ปลายมีติ่ง คู่ในรูปลิ่ม ยาวประมาณ 4 มม. กลีบปากเป็นถุงสีแดงอมเหลือง ปากกลีบเบี้ยว กว้างประมาณ 8 มม. ยาวประมาณ 3 ซม. เรียวยาวเป็นเดือยชี้ขึ้น กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่ ยาว 1–1.3 ซม. ปลายกลีบกลม กลีบปีกแฉกลึก ยาวประมาณ 2.5 ซม. คู่นอกรูปแถบ ยาวประมาณ 4 เท่าของคู่ใน ผลรูปกระสวย ยาวประมาณ 2.5 ซม. เมล็ดมีตุ่ม

พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ และเชียงราย ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 2000–2500 เมตร

เทียนคำ: ขอบใบจักมนถี่ ช่อดอกแบบช่อกระจะ กลีบปากเบี้ยว เรียวยาวเป็นเดือยชี้ขึ้น กลีบปีกคู่นอกยาวประมาณ 4 เท่า ของคู่ใน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ณรงค์ คูณขุนทด)

เทียนจีน
วันที่ 30 ตุลาคม 2560

Impatiens chinensis L.

Balsaminaceae

ดูที่ หญ้าเทียน

เทียนชมพู
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens spectabilis Triboun & Suksathan

Balsaminaceae

ดูที่ เทียนแพงพวย

เทียนชวนชม
วันที่ 3 มกราคม 2561

Impatiens adenioides Suksathan & Keerat.

Balsaminaceae

ดูที่ เหยื่อกุรัมน้อย

เทียนซีลอน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens repens Moon ex Wight

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุกเกาะเลื้อยหรือทอดนอน ลำต้นสีน้ำตาลแดง มีรากตามข้อ ใบเรียงเวียน รูปคล้ายไตหรือเกือบกลม กว้าง 1–1.7 ซม. ยาว 0.7–1.2 ซม. ปลายมน มีติ่งสั้น ๆ แผ่นใบมีขนประปรายด้านบน ขอบจักมนตื้น ๆ เส้นแขนงใบข้างละ 2–3 เส้น ก้านใบยาว 1–2 ซม. ดอกสีเหลือง ออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกยาว 2–4 ซม. กลีบเลี้ยง 2 กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 3.5–5 มม. มีขนตามเส้นกลางกลีบ กลีบปากรูปเรือ ยาว 1.5–1.7 ซม. ด้านนอกมีขน โคนด้านในมีจุดสีน้ำตาลแดง เดือยม้วนเข้า ยาว 7–8 มม. กลีบดอกกลีบกลางรูปคุ่ม กว้างและยาว 1–1.4 ซม. ปลายแฉกตื้น ๆ สันกลีบมีขนกระจาย กลีบปีกยาว 2–2.3 ซม. คู่นอกรูปขอบขนาน ยาว 1.1–1.2 ซม. ขอบในเว้าตื้น คู่ในรูปไข่ ยาว 1.6–1.7 ซม. ผลรูปกระสวย มีขนสั้นนุ่ม

มีถิ่นกำเนิดในศรีลังกา ขึ้นตามภูเขาสูง เป็นไม้ประดับทั้งในเอเชียและยุโรป

ชื่อสามัญ  Ceylon balsam, Cylon jewelweer, Golden dragon Impatiens, Yellow Impatiens

เทียนซีลอน: ใบรูปคล้ายไต ขอบจักมนห่าง ๆ ปลายมีติ่งสั้น ๆ แผ่นใบมีขนด้านบน ก้านใบยาว ดอกออกเดี่ยว ๆ กลีบปากมีขนหนาแน่น เดือยม้วนงอ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เทียนดอก
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens balsamina L.

Balsaminaceae

ดูที่ เทียน

เทียนดอย
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens violiflora Hook.f.

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาวได้ถึง 8 ซม. มีต่อมจนจรดก้านใบ แผ่นใบส่วนมากมีขนด้านบน ก้านใบยาวได้ถึง 4 ซม. ดอกสีม่วงอมชมพู ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ ก้านดอกยาว 1–3.5 ซม. มีขน กลีบเลี้ยง 2 กลีบ รูปไข่ ยาว 1–3 มม. กลีบปากรูปลำโพง กว้าง 5–6 มม. ลึกเท่า ๆ กัน ด้านนอกมีขนประปราย เดือยโค้งเล็กน้อย เรียว ยาว 2.5–4 ซม. กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจกว้าง ยาว 1–1.2 ซม. สันบนเป็นปีกปลายมีเขา มีขนประปราย กลีบปีกแฉกลึก ยาว 1.5–1.8 ซม. ด้านในมีปื้นสีขาวและจุดสีเหลือง คู่ในขนาดใหญ่กว่าหรือเท่า ๆ คู่นอก ผลเต่งกลาง มีขนหนาแน่น ยาวประมาณ 1.5 ซม. เมล็ดมีขนบิดเวียน

พบที่พม่า ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 700–2000 เมตร

ชื่ออื่น   เทียนดอย, เทียนป่า (เชียงใหม่)

เทียนดอย: เดือยโค้งเล็กน้อย เรียวยาว กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจกว้าง กลีบปีกคู่ในขนาดเท่า ๆ คู่นอก โคนด้านในมีปื้นขาว มีจุดสีเหลือง ผลเต่งกลาง มีขนหนาแน่น (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เทียนดอยตุง
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens doitungensis Triboun & Sonsupab

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูง 10–20 ซม. ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 2–5 ซม. แผ่นใบด้านล่างสีเขียวนวล ขอบจักที่โคนมีติ่งแหลมตั้งขึ้น มีต่อมยาว 2 ต่อมที่โคน ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ดอกสีชมพู ออกเดี่ยว ๆ หรือคู่ ก้านดอกยาว 1–4 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คู่นอกรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 7 มม. ปลายมีติ่งแหลม คู่ในคล้ายเกล็ด ยาวประมาณ 2 มม. กลีบปากเป็นถุง ด้านในมีจุดสีน้ำตาลแดง ปากกว้างประมาณ 2 ซม. เบี้ยวเล็กน้อย ยาวประมาณ 2.5 ซม. เดือยพับงอกลับ ยาว 1–1.3 ซม. กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.4 ซม. พับงอกลับ ปลายเว้าตื้น กลีบปีกปลายมีติ่งแหลม คู่นอกรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2 ซม. คู่ในรูปไข่ ยาว 1–1.2 ซม. เชื่อมติดกันเกินกึ่งหนึ่ง มีปื้นสีเหลืองด้านใน ผลรูปกระบอง ยาวประมาณ 1.5 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย ขึ้นใต้ร่มเงาตามเขาหินปูนในป่าดิบเขา ความสูงประมาณ 1300 เมตร

เทียนดอยตุง: ท้องใบมีสีเขียวนวล กลีบปากด้านในมีลายจุดสีน้ำตาลแดง กลีบดอกกลีบกลางพับงอกลับประมาณกึ่งหนึ่ง กลีบปีกคู่นอกเรียวยาว เชื่อมติดเกินกึ่งหนึ่ง เดือยพับงอกลับ (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

เทียนดารณี
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens daraneenae Suksathan & Triboun

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. ใบเรียงเวียน รูปไข่ ยาวได้ถึง 6.5 ซม. โคนมีต่อมคู่ ก้านใบยาวได้ถึง 4 ซม. ดอกสีม่วงอ่อน ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก 2–3 ดอก ก้านดอกยาวได้ถึง 1.5 ซม. กลีบเลี้ยงคู่นอกรูปไข่กว้าง เบี้ยวเล็กน้อย ยาวประมาณ 5 มม. คู่ในรูปรี ยาวประมาณ 2 มม. กลีบปากเป็นถุง ปากกว้างประมาณ 1.5 ซม. ยาวได้ถึง 2.5 ซม. เดือยพับงอ ยาวประมาณ 8 มม. ปลายเดือยจักเป็นพูตื้น ๆ กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1 ซม. พับงอกลับ ปลายมีติ่งแหลม กลีบปีกบิดเบี้ยว คู่นอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2 ซม. เชื่อมติดกันเกินกึ่งหนึ่ง ปลายจักเป็นพู คู่ในรูปไข่กว้าง ยาว 0.7–1.3 ซม. ปลายเว้าตื้น มีติ่งแหลม ผลรูปกระบอง ยาวประมาณ 1.5 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นใต้ร่มเงาตามเขาหินปูน ความสูงประมาณ 850 เมตร คำระบุชนิดตั้งตามชื่อคุณดารณี ดีโรจนวงศ์ ผู้สนับสนุนในการศึกษาพืชวงศ์เทียนแก่ผู้ค้นพบ

เทียนดารณี: ถิ่นที่อยู่ตามเขาหินปูน กลีบปีกบิดเบี้ยว เดือยพับงอกลับ กลีบปีกคู่นอกเชื่อมติดกันเกินกึ่งหนึ่ง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เทียนทุ่งค่าย
วันที่ 30 ตุลาคม 2560

Impatiens reticulata Wall.

Balsaminaceae

ดูที่ หญ้าเทียนหางสั้น

เทียนธารา
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens mengtszeana Hook.f.

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก หรือทอดเลื้อย มีรากตามข้อ สูงได้ถึง 60 ซม. ใบเรียงเวียน รูปไข่กลับหรือรูปใบหอก ยาว 3.5–8 ซม. ก้านใบยาวได้ถึง 2.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ก้านช่อยาว 3–5 ซม. มี 1–2 ดอกในแต่ละช่อ ใบประดับย่อยรูปใบหอก ยาวประมาณ 7 มม. ก้านดอกยาว 1–2.5 ซม. ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยง 2 กลีบ รูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายมีติ่ง กลีบปากรูปลำโพง กว้างประมาณ 1.8 ซม. ลึกประมาณ 1.5 ซม. เดือยม้วนงอเข้า ยาว 1.5–2 ซม. กลีบดอกกลีบกลางรูปรีกว้าง ยาว 1.3–1.6 ซม. ปลายกลีบคล้ายรูปหัวใจ กลีบปีกแฉกลึก คู่นอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5 ซม. มีติ่งที่โคน คู่ในรูปรีกว้าง ยาวเท่า ๆ คู่นอก ผลรูปกระบอง ยาว 1–1.5 ซม.

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ ในไทยพบทางภาคเหนือที่ดอยสุเทพ และดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นริมลำธารในป่าดิบเขา ความสูง 800–1500 เมตร

เทียนธารา: ช่อดอกแบบช่อกระจะ มี 1–2 ดอก กลีบปีกคู่นอกรูปขอบขนาน กลีบคู่ในรูปรีกว้าง กลีบปากรูปลำโพง เดือยม้วนงอ (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

เทียนนกแก้ว
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens mengtszeana Hook.f.

Balsaminaceae

ดูที่ เทียนธารา

เทียนนกอัคคี
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens clavigera Hook.f.

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 60 ซม. ใบเรียงเวียน รูปไข่ แกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ยาว 5–18 ซม. ขอบจักมน ก้านใบยาว 1–2 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ก้านช่อยาว 2–10 ซม. ก้านดอกยาว 1–2 ซม. ใบประดับย่อยยาว 3–4 มม. ร่วงเร็ว ดอกสีขาวขุ่น มีริ้วสีน้ำตาลแดง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คู่นอกรูปไข่ เบี้ยว ยาว 0.8–1.2 ซม. ปลายแหลมยาว คู่ในรูปใบหอก ยาวได้ถึง 1.7 ซม. กลีบปากเป็นถุงเบี้ยว กว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 2–2.5 ซม. เดือยยาวประมาณ 1 ซม. โค้งงอ กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 2 ซม. ปลายมน มีติ่งแหลม กลางกลีบเป็นสัน กลีบปีกยาว 2–2.5 ซม. คู่ในรูปกลม คู่นอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาวกว่าคู่ใน มีสีเหลืองหรือแดงแต้มเป็นริ้ว ผลรูปกระบอง ยาวประมาณ 1.5 ซม.

พบที่จีนตอนใต้ เวียดนามตอนบน ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1200–1500 เมตร อนึ่ง ชื่อไทยตั้งจากชื่อภาษาจีน ‘bang feng xian hua’ ที่หมายถึงนกฟีนิกส์หรือนกอัคคี

ชื่ออื่น   เทียนนกอัคคี, เทียนสองแคว (ทั่วไป)

เทียนนกอัคคี: ช่อดอกแบบช่อกระจะ ดอกจำนวนมาก กลีบปากเบี้ยว มีริ้วสีน้ำตาลแดง เดือยโค้งงอ กลีบเลี้ยงคู่ในยาวกว่าคู่นอก กลีบปีกมีสีเหลืองหรือแดงแต้มเป็นริ้ว (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

เทียนนางคาร์
วันที่ 3 มกราคม 2561

Impatiens kerriae Craib

Balsaminaceae

ดูที่ เหยื่อเลียงผา

เทียนน้ำ
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Hydrocera triflora (L.) Wight & Arn.

Balsaminaceae

ดูที่ เทียนนา

เทียนนิวกินี
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens hawkeri W.Bull

Balsaminaceae

ดูที่ เทียน

เทียนป่า
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens griffithii Hook.f. & Thomson var. sarcantha (Hook.f. ex Ridl.) T.Shimizu

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 40 ซม. มีขนหยาบหนาแน่นหรือประปรายตามลำต้น แผ่นใบ และก้านดอก หูใบมีต่อม ใบเรียงตรงข้ามหรือรอบข้อ 3–5 ใบ รูปใบหอกหรือแกมรูปไข่ ขอบจักซี่ฟันห่าง ๆ แผ่นใบด้านล่างมีนวล ก้านใบสั้น ดอกออกเดี่ยว ๆ สีม่วงอมชมพู ก้านดอกยาว 3–7 ซม. กลีบเลี้ยง 2 กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 8 มม. กลีบปากรูปเรือ กว้าง 7–9 มม. ลึก 1–2 มม. เดือยยาว 3–3.5 ซม. โค้งเล็กน้อย กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่กลับกว้าง ยาว 1.2–1.6 ซม. เส้นกลางเป็นปีกแคบ กลีบปีกแฉกลึก ยาว 1.5–2 ซม. คู่นอกใหญ่กว่าคู่ในเล็กน้อย ผลเต่งกลาง ยาวประมาณ 1.5 ซม. เมล็ดมีขนยาว

พบที่คาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ตราด (เขากวบ) และภาคใต้ที่ระนอง พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรังสงขลา ขึ้นตามที่ชื้นแฉะในป่าดิบชื้นหรือที่โล่งในป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร คล้ายเทียนใต้ I. platypetala Lindl. ลำต้นและใบส่วนมากเกลี้ยง ส่วน var. griffithii พบที่คาบสมุทรมลายู ใบเรียวแคบกว่า

ชื่อพ้อง  Impatiens sarcantha Hook.f. ex Ridl.

เทียนป่า: ใบเรียงตรงข้ามหรือเวียนรอบข้อ มีขนยาว กลีบปากตื้น เดือยเรียวยาว โค้ง กลีบปีกแฉกลึก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เทียนป่า
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens violiflora Hook.f.

Balsaminaceae

ดูที่ เทียนดอย

เทียนปีกผีเสื้อ
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens patula Craib

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูง 10–40 ซม. ใบเรียงเวียน รูปใบหอก ยาวได้ถึง 8 ซม. มีต่อมคู่ใกล้โคน แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ด้านบนมีครุย ก้านใบยาวได้ถึง 3 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ สีชมพูอมม่วง ก้านดอกยาวได้ถึง 2.5 ซม. มีขนยาว กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปแถบหรือรูปใบหอก ยาว 3–3.5 มม. ด้านนอกมีขนหยาบ กลีบปากรูปกรวย กว้างและลึกประมาณ 5 มม. มีขนละเอียด เดือยตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาว 2–3 ซม. กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจ ยาวประมาณ 7 มม. เส้นกลางกลีบมีขนหยาบ ปลายมีสันเป็นเขา กลีบปีกแยกกัน ยาวประมาณ 1.4 ซม. คู่ในยาวกว่าคู่นอก กางออกคล้ายปีกผีเสื้อ ผลเต่งกลาง มีขนหยาบ

พืชถิ่นเดียวของไทย พบหนาแน่นทางภาคเหนือที่ดอยหัวหมด จังหวัดตาก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามหินปูนที่โล่ง ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

เทียนปีกผีเสื้อ: ใบเรียงเวียน เดือยโค้งเล็กน้อย กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจ กลีบปีกแยกกัน กางออกคล้ายรูปผีเสื้อ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เทียนผาไทย
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens nalampoonii T.Shimizu

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูง 30–40 ซม. ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือรูปใบหอก มีต่อมคู่ที่โคน ก้านใบยาวได้ถึง 4 ซม. ดอกสีม่วง ห้อยลง ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ ก้านดอกยาว 1–2 ซม. กลีบเลี้ยง 2 กลีบ รูปรีกว้าง ยาวประมาณ 8 มม. ปลายมีติ่ง กลีบปากเป็นถุง กว้างประมาณ 2.3 ซม. ลึกประมาณ 2 ซม. ด้านในมีปื้นสีเหลือง เดือยคล้ายตะขอสั้น ๆ ม้วนงอ กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่ ยาวประมาณ 1.7 ซม. ปลายกลีบเว้าตื้น โคนด้านนอกแกนกลางเป็นสันปีก กลีบปีกเชื่อมติดกัน แฉกลึกประมาณ 7 มม. คู่นอกคล้ายครึ่งวงกลม ยาวประมาณ 2.5 ซม. คู่ในรูปไข่ ยาวประมาณ 1.8 ซม. ผลรูปกระสวย เต่งกลาง ยาวประมาณ 1.5 ซม. เมล็ดมีตุ่มละเอียด

พืชถิ่นเดียวของไทย พบกระจายห่าง ๆ ทางภาคเหนือที่ลำปาง ภาคกลางที่สระบุรี และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูง 100–800 เมตร คำระบุชนิดตั้งตามชื่อนายอนันต์ ณ ลำพูน ผู้ร่วมสำรวจพืชวงศ์เทียน

เทียนผาไทย: ดอกห้อยลง กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปรีกว้าง ปลายมีติ่ง กลีบปากเป็นถุง ด้านในสีเหลือง เดือยสั้น ม้วนงอ กลีบปีกเชื่อมติดกัน กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่ ปลายกลีบเว้า คู่นอกคล้ายครึ่งวงกลม ยาวกว่าคู่ใน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เทียนฝรั่ง
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens walleriana Hook.f.

Balsaminaceae

ดูที่ เทียน

เทียนพระบาท
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens charanii T.Shimizu

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 60 ซม. ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3–22 ซม. มีต่อมคู่ที่โคน ก้านใบยาวได้ถึง 3 ซม. ดอกสีม่วงอมชมพู ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ ก้านดอกยาวได้ถึง 3 ซม. มีขนสั้น กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คู่นอกติดกันคล้ายถุง มีขนประปราย คู่ในรูปแถบสั้น ๆ กลีบปากเป็นถุง กว้างยาวประมาณ 8 มม. เดือยสั้น จัก 2 พู กลีบดอกกลีบกลางรูปรี ยาวประมาณ 1.3 ซม. ด้านบนมีติ่งคล้ายเขา กลีบปีกแฉกลึก คู่ในกลม ยาวประมาณ 1.2 ซม. คู่นอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2.5 ซม. ปลายเว้าตื้น ด้านในมีปื้นสีเหลืองและจุดสีส้มแดง โคนมีเขาแหลม 1 คู่ ผลยาวประมาณ 1.5 ซม. เป็นร่องตามยาว มีขน

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคกลางที่พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ขึ้นใต้ร่มเงาบนเขาหินปูน ความสูง 100–300 เมตร คำระบุชนิดตั้งตามชื่อนายจรัญ ฉ. เจริญผล อดีตหัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์พุแค จังหวัดสระบุรี ผู้ร่วมสำรวจพืชวงศ์เทียน

เทียนพระบาท: กลีบดอกกลีบกลางรูปรี มีติ่งคล้ายเขา กลีบปีกแฉกลึก คู่ในกลม คู่นอกรูปขอบขนาน ปลายเว้าตื้น ด้านในมีปื้นสีเหลืองและจุดสีส้มแดง โคนมีเขาแหลม 1 คู่ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เทียนพังงา
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens macrosepala Hook.f.

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูง 20–50 ซม. ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปขอบขนาน ยาว 5–17 ซม. มีต่อมคู่ที่โคน ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง โคนมักเบี้ยว แผ่นใบมีขนกระจายทั้งสองด้าน ก้านใบยาวได้ถึง 10 ซม. ดอกสีขาว ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ ก้านดอกยาวได้ถึง 1.5 ซม. มีขน กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คู่นอกรูปไข่เชื่อมติดกัน ยาว 1–1.2 ซม. ปลายมีติ่งแหลม คู่ในรูปแถบ ยาวประมาณ 3 มม. กลีบปากเป็นถุง กว้างประมาณ 1 ซม. ลึกประมาณ 5 มม. เดือยสั้น จัก 2 พู กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 8 มม. ด้านบนเป็นสันปีก ปลายมีเขาสั้น ๆ กลีบปีกยาว 1.4–1.8 ซม. คู่นอกรูปขอบขนาน ปลายเว้าตื้น ด้านในมีปื้นสีเหลืองและจุดสีส้มแดง โคนเป็นสันคล้ายเขา คู่ในรูปรีกว้าง ผลเต่งกลาง ยาว 2–3 ซม. เมล็ดมีตุ่ม

พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ของไทยที่พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช และตรัง ขึ้นบนเขาหินปูนในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 150 เมตร

เทียนพังงา: กลีบปากเป็นถุงกว้าง เดือยสั้น จัก 2 พู กลีบดอกกลีบกลางมีสันปีก ปลายมีเขาสั้น ๆ กลีบปีกคู่นอกรูปขอบขนาน ด้านในมีปื้นสีเหลืองและจุดสีส้มแดง โคนเป็นสันคล้ายเขา ผลเต่งกลาง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เทียนภู
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens masonii Hook.f.

Balsaminaceae

ดูที่ เทียนทุ่ง

เทียนภูหลวง
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens phuluangensis T.Shimizu

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูง 50–60 ซม. ใบเรียงเวียน รูปใบหอกหรือรูปไข่ แผ่นใบด้านบนมีขนสั้นนุ่ม มีขนหยาบตามเส้นแขนงใบด้านล่าง ก้านใบยาวได้ถึง 3.5 ซม. ดอกสีชมพูอมม่วงสด ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก 2–3 ดอก ก้านดอกยาว 5–6 ซม. ใบประดับมีขนครุย กลีบเลี้ยง 2 กลีบ รูปแถบหรือรูปใบหอก ยาว 6–8 มม. มีขนหยาบ กลีบปากรูปเรือ กว้างประมาณ 1 ซม. ปลายมีรยางค์แข็ง เดือยรูปเส้นด้าย ยาว 4–5 ซม. กลีบดอกกลีบปากรูปหัวใจ กว้างได้ถึง 2.5 ซม. ยาวได้ถึง 2 ซม. เส้นกลางกลีบมีขนหยาบ ปลายเป็นเขาแคบ ๆ ยาวประมาณ 4 มม. กลีบปีกคู่นอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.4 ซม. ปลายเว้าตื้น โคนมีสีเหลืองแต้ม คู่ในคล้ายรูปหัวใจ ขนาดใหญ่กว่าคู่นอก ผลเต่งกลาง มีขนหยาบ เมล็ดมีขนละเอียด

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ภูหลวง จังหวัดเลย ขึ้นตามแผ่นหินที่ชื้นแฉะ ความสูง 1300–1500 เมตร

เทียนภูหลวง: กลีบเลี้ยงมีขน กลีบดอกกลีบปากรูปหัวใจ กลีบปีกคู่ในขนาดใหญ่กว่าคู่นอก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เทียนมณีดำ
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens drepanophora Hook.f.

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. แตกกิ่งประปราย ข้อโป่งพอง เกลี้ยง ใบเรียงเวียนหรือเกือบตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 2.5–13 ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่ม แผ่นใบเกลี้ยง โคนมีต่อมมีก้าน 2 ต่อม ขอบจักฟันเลื่อย ปลายจักมีต่อมเป็นติ่ง เส้นแขนงใบข้างละ 7–9 เส้น ก้านใบสั้น หรือยาวได้ถึง 5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านช่อยาว 7–15 ซม. มี 5–10 ดอก ก้านดอกยาว 1.5–2.3 ซม. ใบประดับรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาวได้ถึง 4 มม. ร่วงเร็ว ปลายเป็นติ่งแหลม มีต่อม ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยง 2 กลีบ รูปเคียว ยาว 2–4 มม. ปลายเป็นติ่งแหลมยาว กลีบปากเป็นถุงเรียวรูปคล้ายทรัมเป็ต ยาว 1.7–2 ซม. คอดโค้งขึ้นเป็นเดือยเรียวยาวคล้ายเขา ยาว 1.2–1.7 ซม. กลีบดอกกลีบกลางรูปกลม ปลายเรียวแคบโค้ง กลีบปีกมีก้านกลีบ คู่นอกรูปขอบขนานแคบ ๆ ยาวประมาณ 2 ซม. มีจุดสีแดงกระจาย กลีบคู่ในรูปคล้ายขวานขนาดเล็ก ผลรูปกระบอง ยาวประมาณ 1.5 ซม. เมล็ดขนาดเล็ก เกลี้ยงหรือมีปุ่มกระจาย

พบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่า จีนตอนใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย พบที่ภูสวนทราย จังหวัดเลย ขึ้นตามป่าดิบแล้งที่เป็นหินทราย ความสูง 900–1000 เมตร

ชื่ออื่น   เทียนมณีคำ, เทียนหางชี้ (ทั่วไป)

เทียนมณีดำ: ช่อดอกแบบช่อกระจะ กลีบปากเป็นถุงเรียวรูปคล้ายทรัมเป็ต คอดโค้งขึ้นเป็นเดือยเรียวยาวคล้ายเขา กลีบปีกคู่นอกมีจุดสีแดงกระจาย (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เทียนรัศมี
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens radiata Hook.f.

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 80 ซม. ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 6–14 ซม. ขอบจักมนลึกถี่ ก้านใบยาว 0.5–2.5 ซม. มีต่อมคู่ที่โคน ช่อดอกแบบช่อกระจะ เรียงออกเป็นรัศมีเกือบเป็นวงรอบ ก้านช่อยาวได้ถึง 20 ซม. ปลายใบประดับมีต่อม ก้านดอกยาว 1–3 ซม. ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับ ดอกสีขาวอมชมพู กลีบเลี้ยง 2 กลีบ ขนาดเล็ก ปลายมีติ่ง กลีบปากเป็นถุง โคนเรียว ยาว 6–7 มม. เดือยยาวได้ถึง 2 ซม. กลีบดอกกลีบปากรูปคุ่ม ปลายมีจะงอย กลีบปีกแยกกัน ยาว 1–1.4 ซม. คู่นอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 ซม. คู่ในรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 3 มม. ผลรูปแถบ เกลี้ยง ยาวประมาณ 2 ซม.

พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ และพม่า ในไทยพบทางภาคเหนือที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบเขาที่มีความชุ่มชื้นสูง ความสูง 2400–2500 เมตร

ชื่ออื่น   เทียนรัศมี, เทียนหาง (ทั่วไป)

เทียนรัศมี: ช่อดอกเรียงออกเป็นรัศมี กลีบเลี้ยงคู่ข้างขนาดเล็ก กลีบดอกกลีบปากรูปคุ่ม เดือยเรียวยาว กลีบปีกคู่ในขนาดเล็ก คู่นอกรูปขอบขนาน ผลรูปแถบ เกลี้ยง (ภาพ: ณรงค์ คูณขุนทด, ราชันย์ ภู่มา)

เทียนสว่าง
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens putii Craib

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 60 ซม. ใบเรียงเวียน แผ่นใบอวบน้ำ รูปไข่กว้าง ยาว 3–6 ซม. ขอบจักซี่ฟันห่าง ๆ บางครั้งมีต่อม 1 คู่ ใกล้โคนใบด้านล่าง ก้านใบยาวได้ถึง 5 ซม. ดอกสีม่วงอ่อน ๆ ออกเดี่ยว ๆ ใบประดับรูปเส้นด้ายติดใต้กึ่งกลางข้อก้านดอก ก้านดอกยาว 2–5 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คู่นอกรูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. คู่ในฝ่อ กลีบปากรูปแตร กว้างประมาณ 2 ซม. เดือยยาว 0.8–1 ซม. โค้งงอ กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจ กว้างประมาณ 3 ซม. ยาวประมาณ 2.5 ซม. โคนเป็นสันคล้ายปีก กลีบปีกเชื่อมติดกัน แฉกลึก ยาวประมาณ 2.5 ซม. คู่นอกใหญ่กว่ากลีบคู่ใน มีปื้นเหลืองที่โคน ผลยาว 1.5–1.7 ซม. เมล็ดผิวเป็นร่างแห มีขนบิดเวียน

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ขึ้นตามเขาหินปูนเตี้ย ๆ ใกล้ชายทะเล ความสูงไม่เกิน 100 เมตร

ชื่ออื่น   ถอบแถบดอก, เทียนสว่าง (ชุมพร); เทียนหิน (ประจวบคีรีขันธ์)

เทียนสว่าง: แผ่นใบหนา กลีบปากรูปแตร เดือยโค้งงอ กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจ กลีบปีกคู่นอกใหญ่กว่าคู่ใน มีปื้นสีเหลืองที่โคน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เทียนสองแคว
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens clavigera Hook.f.

Balsaminaceae

ดูที่ เทียนนกอัคคี

เทียนสันติสุข
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens santisukii T.Shimizu

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 1.5–6 ซม. มีต่อมจรดก้านใบ แผ่นใบมีขนยาวด้านบน ก้านใบยาว 1–3 ซม. ดอกสีม่วง ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ ก้านดอกยาวได้ถึง 2.5 ซม. มีขนหนาแน่น กลีบเลี้ยง 2 กลีบ ยาวประมาณ 1 มม. มีขน กลีบปากเป็นถุง กว้างและยาว 5–6 มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น เดือยยาว 1–1.5 ซม. โค้งเล็กน้อย กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจ ยาว 0.8–1 ซม. เส้นกลางกลีบเป็นสัน ปลายคล้ายเขา มีขนหนาแน่น กลีบปีกแฉกลึก ยาว 1–1.2 ซม. มีปื้นสีขาวด้านใน กลีบคู่นอกยาวกว่ากลีบคู่ใน ผลเต่งกลาง มีขนหนาแน่น ยาวประมาณ 1.5 ซม. เมล็ดมีตุ่มกระจาย

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ขึ้นริมลำธารในป่าดิบเขา ความสูง 900–1600 เมตร คล้ายเทียนดอย I. violiflora Hook.f. กลีบปีกคู่นอกยาวกว่าคู่ใน ไม่มีจุดสีเหลืองกลางปื้นขาว

เทียนสันติสุข: ใบมีขนหนาแน่นด้านบน กลีบปากเป็นถุง เดือยโค้งยาว กลีบดอกกลีบกลางรูปหัวใจ กลีบปีกมีปื้นสีขาวด้านใน ผลมีขนหนาแน่น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เทียนสิรินธร
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens sirindhorniae Triboun & Suksathan

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. ลำต้นเกาะเลื้อย มักห้อยลง มีนวล ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3–4 ซม. ขอบจักห่าง ๆ มีต่อมที่โคนเหนือก้านใบ แผ่นใบหนา ก้านใบยาว 2–7.5 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ ก้านดอกยาว 3–6.5 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คู่นอกรูปไข่ ยาว 6–7 มม. คู่ในกลม ขนาดประมาณ 2 มม. กลีบปากเป็นถุงโค้งเรียวยาวเป็นเดือย ยาวได้ถึง 6 ซม. ดอกสีชมพูอมม่วง ปลายกลีบมีติ่งแหลม กลีบกลางรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 2.5 ซม. โคนมีเขาขนาดเล็ก 1 คู่ กลีบปีกเชื่อมติดกัน คู่นอกแฉกลึกเกินกึ่งหนึ่งคล้ายรูปหัวใจ ยาวประมาณ 2 ซม. กว้างประมาณ 2.5 ซม. คู่ในรูปไข่กลับ ยาวเท่า ๆ คู่นอก ผลเต่งกลาง รูปขอบขนาน

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ขึ้นบนเขาหินปูน ความสูง 20–150 เมตร คำระบุชนิดตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทรงพระราชทานชื่อไทยว่า ‘ชมพูสิริน’

ชื่ออื่น   ชมพูสิริน, เทียนสิรินธร (ทั่วไป)

เทียนสิรินธร: ลำต้นเกาะเลื้อย มักห้อยลง แผ่นใบหนา กลีบปากเป็นถุงโค้งเรียวยาวเป็นเดือย กลีบดอกกลีบกลางรูปไข่กลับ กลีบปีกคู่ในยาวเท่า ๆ คู่นอก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เทียนสุขสถาน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens suksathanii Ruchis. & Triboun

Balsaminaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. เกลี้ยง ใบเรียงเวียน รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 5–9 ซม. ขอบจักมน ขอบใบช่วงใกล้โคนมีต่อม แผ่นใบหนา ไร้ก้านหรือยาวได้ถึง 3 ม.ม. ช่อดอกมี 1–3 ดอก เรียงหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง ก้านช่อสั้นมาก ก้านดอกยาว 0.9–1.2 ซม. ดอกสีชมพูอมน้ำตาล กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คู่นอกรูปไข่ ยาว 2–3 มม. คู่ในลดรูปขนาดเล็ก กลีบปากเป็นถุง กว้าง 2.5–4 มม. ยาว 5–5.5 มม. มีริ้วร่างแหสีน้ำตาลอมม่วง เดือยโค้ง ยาว 3–5 มม. กลีบกลางรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5 มม. พับงอกลับ กลีบปีกเชื่อมติดกัน คู่นอกรูปไข่กลับ ยาว 5–6 มม. แฉกตื้น ๆ คู่ในรูปสามเหลี่ยมกว้าง กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 1 มม. ผลรูปกระบอง เกลี้ยง ยาวประมาณ 1 ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่กาญจนบุรี ขึ้นบนเขาหินปูน ความสูง 100–400 เมตร คำระบุชนิดตั้งตามชื่อ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน นักพฤกษศาสตร์ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ผู้ร่วมศึกษาพืชวงศ์เทียนของไทย

เทียนสุขสถาน: ใบเรียงเวียน รูปแถบ ช่อดอกมี 1–3 ดอก เรียงหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง ก้านช่อสั้น ก้านดอกยาว กลีบดอกกลีบกลางพับงอกลับ กลีบปีกเชื่อมติดกัน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เทียนหมอคาร์
วันที่ 3 มกราคม 2561

Impatiens kerriae Craib

Balsaminaceae

ดูที่ เหยื่อเลียงผา

เทียนหาง
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens radiata Hook.f.

Balsaminaceae

ดูที่ เทียนรัศมี

เทียนหางชี้
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens drepanophora Hook.f.

Balsaminaceae

ดูที่ เทียนมณีดำ

เทียนหิน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Impatiens putii Craib

Balsaminaceae

ดูที่ เทียนสว่าง



เอกสารอ้างอิง

Chen, Y., S. Akiyama and T. Shimizu. (2007). Balsaminaceae. In Flora of China Vol. 12: 63, 69, 76, 92.

Ruchisansakun, S., P. Triboun and T. Jenjitikul. (2014). A new species of Impatiens (Balsaminaceae) from southwestern Thailand. Phytotaxa 174(4): 237–241.

Shimizu, T. (2000). New species of Thai Impatiens (Balsaminaceae) 2. Bulletin of the National Science Museum. Tokyo, Series B (Botany) 29: 39.

Shimizu, T. (1991). New species of the Thai Impateins (1). Journal of Japanese Botany 66(3): 166–171.

Shimizu, T. (1970). Contribution to the Flora of Southeast Asia. II. Impatiens of Thailand and Malaya. Southeast Asian Studies 8: 187–217.

Suksathan, P. and P. Triboun. (2009). Ten new species of Impatiens (Balsaminaceae) from Thailand. Gardens’ Bulletin Singapore 61(1): 159–184.