สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เทพี

เทพี
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Caesalpinia crista L.

Fabaceae

ไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง 10 ม. กิ่งมีหนามโค้ง หูใบรูปลิ่มขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบประกอบย่อยมี 2–4 คู่ แกนกลางยาว 10–20 ซม. ใบย่อยมี 2–6 คู่ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาว 2–6 ซม. ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ยาว 10–20 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 0.5–1.5 ซม. ปลายมีข้อต่อ กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 6 มม. กลีบล่างรูปหมวก ดอกสีเหลือง กลีบบนและกลีบล่างรูปไข่ ยาวประมาณ 1 ซม. มีก้านสั้น กลีบกลางสั้นกว่า มีริ้วสีแดง โคนเว้า มีขน รังไข่มีก้านสั้น ๆ มีขน ผลรูปรีเบี้ยวหรือคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู ยาว 3–7 ซม. ปลายมีติ่งแหลม ผิวเป็นร่างแห ส่วนมากมีเมล็ดเดียว รูปคล้ายไต แบน ยาว 1–1.2 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ หนามขี้แรด, สกุล)

พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย ในไทยส่วนมากพบทางภาคใต้ ขึ้นตามชายทะเลหรือป่าโกงกาง พบน้อยทางภาคเหนือ ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

ชื่อสามัญ  Nicker nut

ชื่ออื่น   ฆอระแอ (มาเลย์-นราธิวาส); เทพี (ชุมพร)

เทพี: ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง กิ่งมีหนาม กลีบกลางขนาดเล็ก มีริ้วสีแดง เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวไม่เท่ากัน ฝักเบี้ยว ปลายมีติ่งแหลม (ภาพ: นันท์นภัส ภัทรหิรัญไตรสิน, ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1972). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 70.