ไม้เถาเนื้อแข็ง แยกเพศต่างต้น เปลือกเป็นคอร์ก ใบประกอบมี 3 ใบย่อย เรียงเวียน ก้านยาว 3–8 ซม. ใบย่อยรูปรีถึงรูปขอบขนาน ยาว 7–15 ซม. แผ่นใบด้านบนเป็นมันวาว ด้านล่างมีนวล ก้านใบย่อยยาว 1–5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นกระจุกตามซอกใบหรือกิ่ง 2–5 ช่อ ห้อยลง ก้านช่อสั้น ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ติดทน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 6 กลีบ กลีบดอกรูปไข่ ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1.5 มม. ดอกเพศผู้ก้านดอกยาวประมาณ 9 มม. กลีบเลี้ยงยาว 5–7 มม. เกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแกนอับเรณูมีรยางค์รูปลิ่มแคบ ยาวกว่าอับเรณู เกสรเพศเมียที่เป็นหมันรูปเส้นด้าย 3 อัน ดอกเพศเมีย ก้านดอกยาว 1.5–2 ซม. กลีบเลี้ยงยาว 1–1.5 ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมันมีรยางค์รูปเส้นด้าย มี 3 คาร์เพล เกสรเพศเมียไร้ก้าน ยอดเกสรรูปลิ่มแคบ ผลสด ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 3.5 ซม. มีปุ่มเล็ก ๆ กระจาย เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก มีเยื่อหุ้ม
พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า เวียดนามตอนบน และภาคเหนือของไทย ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 450–1700 เมตร
สกุล Stauntonia DC. มีประมาณ 25 ชนิด พบในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ Sir George Leonard Staunton (1737–1801)
|