ไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย ใบประกอบปลายคี่ มีใบย่อยได้ถึง 25 คู่ รูปรีถึงรูปขอบขนาน ยาว 1–3 ซม. ปลายแหลม กลม หรือเว้าตื้น โคนกลม แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนด้านล่าง เส้นใบไม่ชัดเจน เกือบไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกเป็นกระจุก 1–3 ช่อ ตามซอกใบ ยาวได้ถึง 12 ซม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 1.5–2 ซม. ขยายแนบติดผล มีขนด้านนอก กลีบดอก 5 กลีบ รูปใบหอก ยาว 3–5 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวไม่เท่ากัน มี 5 คาร์เพล เกสรเพศเมียมีทั้งแบบสั้นและแบบยาว ยอดเกสรจัก 2 พู ผลมักติดเพียงผลเดียว รูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 1.5 ซม. แตกด้านบน เมล็ดมีเยื่อหุ้ม
พบที่หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ พม่า กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ คาบสมุทรมลายู ชวา สุมาตรา บอร์เนียว ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร
สกุล Rourea Aubl. มี 60–70 ชนิด ในไทยมี 3 ชนิด อีก 2 ชนิด คือ R. minor (Gaertn.) Alston และ R. prainiana Talbot ใบประกอบมีใบย่อยน้อยกว่า 5 คู่ ชื่อสกุลเป็นภาษาพื้นเมืองในประเทศกายอานา
|