สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เถาสะอึก

เถาสะอึก
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Merremia hederacea (Burm.f.) Hallier f.

Convolvulaceae

ไม้เถา มีรากตามข้อ ใบรูปไข่กว้าง คล้ายรูปหัวใจ จัก 3 พู ยาว 1.5–7.5 ซม. แผ่นใบมีขนละเอียดกระจาย ก้านใบยาว 0.5–5 ซม. ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกสั้น ๆ หรือยาวได้ถึง 5 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 2–5 มม. กลีบเลี้ยงรูปใบพาย ยาวประมาณ 5 มม. กลีบคู่นอกสั้นกว่าเล็กน้อย ปลายกลีบเป็นร่องตื้น มีติ่งแหลมชี้ออก ดอกรูประฆัง สีเหลือง ยาว 0.6–1 ซม. มีริ้วระหว่างกลีบดอก เกสรเพศผู้ยาวไม่เท่ากัน สั้นกว่ากลีบดอกเล็กน้อย รังไข่เกลี้ยง ผลรูปกรวยกว้างหรือเกือบกลม ยาว 5–6 มม. ผิวย่นเล็กน้อย เมล็ดรูปสามเหลี่ยมมน เกลี้ยงหรือมีขน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ จิงจ้อเหลือง, สกุล)

พบที่แอฟริกา ปากีสถาน เนปาล อินเดีย ศรีลังกา จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นเป็นวัชพืช ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร ใบบดผสมขมิ้นและข้าวแก้ทอนซิลอักเสบ

ชื่อสามัญ  Ivy woodrose

ชื่ออื่น   ฉะอึก (นครราชสีมา); เถาสะอึก (ภาคกลาง); มะอึก (นครราชสีมา); สะอึกดะลึง (กาญจนบุรี)

เถาสะอึก: ใบจัก 3 พู ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกสั้น ๆ ปลายกลีบเลี้ยงเป็นร่อง เว้าตื้น มีติ่งแหลม ผลรูปรีกว้างเกือบกลม กลีบเลี้ยงติดทน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เถาสะอึกใหญ่
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Merremia gemella (Burm.f.) Hallier f.

Convolvulaceae

ไม้เถา มีรากตามข้อ ใบรูปไข่ หรือจัก 3 พู ยาว 2.5–6.5 ซม. โคนรูปหัวใจกว้าง แผ่นใบบางครั้งมีขนยาวประปราย ก้านใบยาว 1.5–6 ซม. ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม แยกแขนงสั้น ๆ ยาวได้ถึง 10 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 3–6 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กลับเกือบกลม ด้านนอกมีขน กลีบคู่นอกยาว 4–6 มม. 3 กลีบในยาว 6–7 มม. ปลายกลีบเว้าตื้น ขยายในผล ดอกรูประฆัง สีเหลือง ยาว 1.5–2 ซม. มีริ้วระหว่างกลีบดอก เกสรเพศผู้ยาวเท่า ๆ กัน รังไข่เกลี้ยง ผลกลม แบน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 มม. ผิวย่น เมล็ดรูปสามเหลี่ยมมน มีขนละเอียด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ จิงจ้อเหลือง, สกุล)

พบที่พม่า จีนตอนใต้ เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนล่าง ขึ้นตามชายป่า ที่โล่ง ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร

เถาสะอึกใหญ่: ใบรูปไข่ โคนรูปหัวใจกว้าง ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม แยกแขนงสั้น ๆ เกสรเพศผู้ยาวเท่า ๆ กัน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Fang, R. and G. Staples. (1995). Convolvulaceae. In Flora of China Vol. 16: 293.

Staples, G. (2010). Convolvulaceae. In Flora of Thailand Vol. 10(3): 435–437.