Index to botanical names
เถาวัลย์เปรียง
Fabaceae
ไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งมีช่องอากาศ หูใบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ใบประกอบมีใบย่อย 9–13 ใบ ก้านใบยาว 2–5 ซม. มีหูใบย่อยขนาดเล็ก ใบรูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 3–8 ซม. ใบปลายมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย โคนก้านใบพอง ยาว 1.5–5 มม. ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว 5–28 ซม. ก้านช่อยาว 1.5–5 ซม. ดอกออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ โคนช่อคล้ายปุ่ม ยาว 2–6 มม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก แต่ละช่อมี 5–10 ดอก ก้านดอกยาว 6–9 มม. มีขนคล้ายไหม ใบประดับย่อยขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงสีน้ำตาลแดงหรืออมเขียว เชื่อมติดกันประมาณ 2 มม. กลีบบน 2 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ แฉกตื้น ๆ ดอกสีขาวอมชมพู ยาวเท่า ๆ กัน มีก้านกลีบสั้น ๆ กลีบกลางรูปไข่กลับกว้าง ยาว 5–8 ซม. ปลายเว้า กลีบปีกรูปใบหอก กลีบคู่ล่างรูปเรือ เกสรเพศผู้ 10 อัน ติด 2 กลุ่ม 9 อัน เชื่อมติดกัน ยาว 0.9–1.2 ซม. รังไข่มีขน ฝักแบน รูปแถบ ยาว 4.5–9 ซม. ขอบบนเป็นปีก กว้าง 1–2 มม. เมล็ดแบน รูปรี ยาวประมาณ 7 มม. พบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่าที่โล่ง ความสูงถึงประมาณ 750 เมตร เปลือกมีพิษใช้เบื่อปลา ต้นและรากแก้ข้อเสื่อม แก้ไข้ และขับปัสสาวะสกุล Derris Lour. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Faboideae เผ่า Millettieae มีประมาณ 50 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 16 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “derris” แผ่นหนัง ตามลักษณะเปลือกเมล็ด
ชื่อพ้อง Dalbergia scandens Roxb.
ชื่อสามัญ Hogcreeper
ชื่ออื่น เครือเขาหนัง, เถาตาปลา (นครราชสีมา); เถาวัลย์เปรียง (ภาคกลางl); พานไสน (ชุมพร)
เถาวัลย์เปรียง: ไม้เถาเนื้อแข็ง ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ดอกออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ กลีบเลี้ยงสีน้ำตาลอมแดง ฝักแบน รูปแถบ ขอบบนเป็นปีกแคบ ๆ (ภาพ: วลัยพร วิศวชัยวัฒน์)
Sirichamorn, Y. (2013). Systematics and Biogeography of Aganope, Brachypterum and Derris (Fabaceae) in Asia. Naturalis Biodiversity Center, Sector Botany, Leiden, The Netherlands.