สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เต้ามด

เต้ามด
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Debregeasia wallichiana (Wedd.) Wedd.

Urticaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 6 ม. แยกเพศร่วมต้น กิ่งมีรอยแผลใบชัดเจน หูใบรูปใบหอก ยาว 1–2 ซม. ปลายแยกเป็นแฉก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปไข่กว้างหรือกลม ยาว 5–21 ซม. ขอบใบจักซี่ฟัน เส้นโคนใบ 3 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 5–8 เส้น แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่มสีขาว ก้านใบยาว 3–18 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นแยกสองแฉก 3–7 ครั้ง ออกตามกิ่ง ยาว 3.5–8 ซม. ช่อกระจุกเส้นผ่านศูนย์กลาง 3–5 มม. ใบประดับเรียวยาวขนาดเล็ก มีขนสั้นนุ่ม กลีบรวม 5 กลีบ ขนาดเล็ก รูปไข่กว้าง เชื่อมติดกันประมาณกึ่งหนึ่ง ดอกเพศผู้ก้านดอกสั้น รังไข่เป็นหมัน ดอกเพศเมียรูปไข่ ไร้ก้าน หุ้มรังไข่ ปลายคอดแยกเป็น 4 กลีบตื้น ๆ บาง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรคล้ายแปรง ผลคล้ายผลสดผนังชั้นในแข็ง ยาวประมาณ 1.5 มม. มีกลีบบางหุ้ม

พบที่อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ บังกลาเทศ พม่า และกัมพูชา ในไทยพบมากทางภาคเหนือ และยังพบที่เลย นครนายก (เขาใหญ่) และกาญจนบุรี ขึ้นตามที่โล่งในป่าดิบเขาหรือเขาหินปูน ความสูง 800–1800 เมตร

สกุล Debregeasia Gaudich. มีประมาณ 6 ชนิด ส่วนใหญ่พบในเอเชียตะวันออก ในไทยมี 3 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักสำรวจทางทะเลชาวฝรั่งเศส Prosper Justin de Bregeas ที่สำรวจประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ช่วงปี ค.ศ. 1836–1837

ชื่อพ้อง  Missiessya wallichiana Wedd.

ชื่ออื่น   ไข่ปลา (เชียงใหม่); ตองก้านเท้า (เลย); เต้ามด (เชียงใหม่), สิเล่อ (เย้า-เชียงใหม่)

เต้ามด: ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ขอบใบจักซี่ฟัน แผ่นใบด้านล่างมีขนสีขาว ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นแยกสองแฉก ออกตามกิ่ง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chen, J., I. Friis and C.M. Wilmot-Dear. (2003). Urticaceae (Debregeasia). In Flora of China Vol. 5: 185–186.