สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เต่าร้างหนู2

เต่าร้างหนู2
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Wallichia caryotoides Roxb.

Arecaceae

ปาล์มขนาดเล็กแตกกอ สูงได้ถึง 3 ม. แยกเพศร่วมต้น ลำต้นเส้นผ่านศูนย์กลางโตได้ถึง 10 ซม. ใบมี 4–7 ใบ เรียงเวียน ใบประกอบแบบขนนก ก้านใบประกอบยาว 0.8–1.5 ม. ขอบกาบใบมีเส้นใยหนาแน่น ใบย่อยมี 8–12 ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก มักจัก 2 พู ยาวได้ถึง 50 ซม. ปลายจักไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบด้านล่างมีนวล ช่อดอกแบบช่อเชิงลดแยกแขนง ช่อดอกเพศผู้ออกด้านข้าง ยาว 40–50 ซม. ก้านช่อยาวได้ถึง 30 ซม. ดอกเรียงเวียนเป็นกระจุก แต่ละกระจุกมีดอกเพศผู้ 2 ดอก และดอกเพศเมียที่เป็นหมันหนึ่งดอก ดอกเพศผู้ยาว 5–6 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 3 กลีบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันที่โคน กลีบดอกแยกกัน เกสรเพศผู้มี 11–16 อัน ช่อดอกเพศเมียออกที่ยอด ตั้งขึ้น ยาวเท่า ๆ ช่อดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียยาวประมาณ 3 มม. ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่มี 3 ช่อง ผลรูปรี ยาว 1.5–1.7 ซม. ผลแก่สีแดง

พบที่อินเดีย บังกลาเทศ จีนตอนใต้ และพม่า ในไทยพบกระจายทางภาคเหนือ และภาคใต้ที่ระนอง พังงา ภูเก็ต และตรัง ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ความสูง 500–1200 เมตร

สกุล Wallichia Roxb. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Coryphoideae เผ่า Caryoteae มี 8 ชนิด พบที่อินเดีย บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยมี 3 ชนิด อีก 2 ชนิด คือ ปาล์มนเรศวร W. disticha T.Anderson พบที่กาญจนบุรี ลำต้นเดี่ยว ใบประกอบเรียงสลับระนาบเดียว และ W. marianneae Hodel พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ตรัง แตกกอ ใบเรียวแคบ เกสรเพศผู้มี 16–19 อัน ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์ Nathaniel Wallich (1786–1854)

ชื่อสามัญ  Wallich palm

ชื่ออื่น   ขี้หนาง (ภาคเหนือ); เขือง (เชียงใหม่); เต่าร้างหนู (กรุงเทพฯ)

เต่าร้างหนู: ใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยเรียงสลับระนาบเดียว ปลายจักแหลมไม่เป็นระเบียบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดแยกแขนง ช่อดอกเพศผู้ออกด้านข้าง ช่อดอกเพศเมียออกที่ยอด ตั้งขึ้น (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Barfod, A.S. and J. Dransfield. (2013). Arecaceae. In Flora of Thailand Vol. 11(3): 491–493.