สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เต่าร้างหนู

เต่าร้างหนู  สกุล
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Arenga Labill. ex DC.

Arecaceae

ปาล์มลำต้นเดี่ยวหรือแตกกอ แยกเพศร่วมต้น ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียออกไม่พร้อมกัน หลังจากออกดอกติดผลแล้วตายหรือไม่ตาย ใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยเรียงระนาบเดียวหรือต่างทิศทาง กาบเป็นเส้นใยร่างแห ช่อดอกออกจากยอดสู่โคนต้นในชนิดที่ออกดอกแล้วไม่ตาย ออกที่โคนในชนิดที่ออกดอกแล้วตาย แยกแขนง มักห้อยลง ใบประดับจำนวนมาก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 3 กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก รังไข่มี 2–3 ช่อง ไร้ก้านเกสรเพศเมีย ไม่มีที่เป็นหมันในดอกเพศผู้ ผลกลมหรือรูปรีกว้าง มี 1–3 เมล็ด เปลือกนอกเรียบ ผนังชั้นกลางสด มีสารทำให้ผิวหนังแสบคัน ผนังชั้นในคล้ายผนังชั้นกลาง

สกุล Arenga อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Coryphoideae เผ่า Caryoteae มี 24 ชนิด พบในเอเชียและออสเตรเลีย ในไทยมี 5 ชนิด แยกเป็นสกุลย่อย Didymosperma ปาล์มขนาดเล็ก ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ส่วนมากไม่แยกแขนง มี 2 ชนิด ส่วนสกุลย่อย Arenga ปาล์มขนาดใหญ่ ช่อดอกแยกแขนง มี 3 ชนิด คือ A. obtusifolia Mart. พบทางภาคใต้ หายาก แตกกอห่าง ๆ ดอกออกจากโคนสู่ปลายต้นแล้วตาย อีก 2 ชนิด คือ ต๋าว A. pinnata (Wurmb) Merr. มักพบปลูกเป็นไม้ผล และ รังกับ A. westerhoutii Griff. ลักษณะคล้ายกันมาก ต่างกันที่การเรียงตัวของใบ ต๋าวเรียงต่างทิศทาง ส่วนรังกับเรียงในระนาบเดียว ซึ่งทั้งสองชนิดผลมีพิษ ชื่อสกุลมาจากภาษามาเลย์ “arenge” ที่เรียกพืชในสกุลนี้


เต่าร้างหนู
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Arenga caudata (Lour.) H.E.Moore

Arecaceae

ปาล์มขนาดเล็กแตกกอ สูงได้ถึง 2 ม. ลำต้นเส้นผ่านศูนย์กลางโตได้ถึง 2 ซม. ใบมีประมาณ 10 ใบ เรียงเวียน ใบประกอบแบบขนนก ก้านใบประกอบยาว 30–60 ซม. ใบย่อยเรียงห่าง ๆ มี 4–10 ใบ รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด โคนเรียวแคบ ยาว 20–80 ซม. ปลายจักไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบด้านล่างมีนวลสีเงินอมเทา ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มี 2–3 ช่อ ออกตามซอกใบใกล้โคน ยาว 25–30 ซม. โค้งลง ช่วงปลายส่วนมากเป็นช่อดอกเพศเมีย พบน้อยที่แตกแขนง ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.5 ซม. ผลแก่สีส้มอมแดง

พบที่พม่า ไห่หนาน ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น เขาหินปูนที่ชุ่มชื้น ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร

ชื่อพ้อง  Borassus caudatum Lour.

ชื่ออื่น   ตาล (ชลบุรี, ภาคกลาง); ตาลไก้ (เลย); ตาลรั้ง (จันทบุรี); เต่าร้างหนู (จันทบุรี, ภาคใต้)

เต่าร้างหนู: ใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยเรียงห่าง ๆ รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด โคนเรียวแคบ ปลายจักไม่เป็นระเบียบ ช่อผลโค้งลง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Pongsattayapipat, R. (2013). Arecaceae. In Flora of Thailand Vol. 11(3): 333–337.