สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เต่าร้าง

เต่าร้าง  สกุล
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Caryota L.

Arecaceae

ปาล์มลำต้นเดี่ยวหรือแตกกอ แยกเพศร่วมต้น มักตายหลังจากออกดอกติดผล ลำต้นมีรอยวงก้านใบชัดเจน ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ออกตามลำต้นและยอด กาบเป็นเส้นใยร่างแหโอบหุ้มลำต้นตรงข้ามก้านใบ ใบย่อยส่วนมากรูปสามเหลี่ยม ช่อดอกออกจากยอดสู่โคนต้น แยกแขนง ใบประดับ 6–8 ใบ ดอกออกเป็นกระจุก 3 ดอก มีดอกเพศเมียออกตรงกลาง ดอกเพศผู้ด้านข้าง 2 ดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 3 กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก รังไข่มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียไร้ก้าน ผลกลม มี 1–2 เมล็ด เปลือกนอกเรียบ ผนังชั้นกลางสดมีเกล็ดแหลม (raphide) ที่มีสารทำให้ผิวหนังแสบคัน ผนังชั้นในแข็ง

สกุล Caryota อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Coryphoideae เผ่า Caryoteae มี 13 ชนิด พบที่อินเดีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 4 ชนิด เป็นพืชถิ่นเดียว 1 ชนิด คือ C. kiriwongensis Hodel ex Hodel พบที่เขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช คล้ายเต่าร้างยักษ์ภูคา แต่ช่อดอกสั้นกว่า และเนื้อในเมล็ดไม่เป็นชั้น ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “karyotos” อินทผาลัม หมายถึงปาล์มที่มีผลคล้ายอินทผาลัม


เต่าร้าง
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Caryota mitis Lour.

Arecaceae

ปาล์มแตกกอ สูงได้ถึง 10 ม. ลำต้นเส้นผ่านศูนย์กลางโตได้ถึง 20 ซม. ก้านใบยาว 0.8–2 ม. แกนกลางใบประกอบยาว 2–2.8 ม. ใบประกอบย่อยข้างละ 10–23 ใบ ใบประกอบย่อยชั้นที่สองข้างละ 10–20 ใบ ใบย่อยรูปสามเหลี่ยมเรียวแหลม ปลายจัก ยาว 20–30 ซม. บางครั้งแฉกลึกจรดโคน 2–3 แฉก คล้ายหางปลา ช่อดอกโค้งลง ยาวได้ถึง 85 ซม. แกนช่อยาว 20–65 ซม. ช่อย่อยจำนวนมาก ดอกเพศผู้กลีบดอกยาว 1.2–1.5 ซม. ดอกเพศเมียกลีบดอกยาว 4–5 มม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2 ซม. สุกสีม่วงดำ ส่วนมากมีเมล็ดเดียว เนื้อในเมล็ดเป็นชั้น

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือป่าเสื่อมโทรม และเป็นไม้ประดับ เปลือกผลทำให้ระคายเคือง เส้นใยกาบประคบแผลสดห้ามเลือด

ชื่อสามัญ  Fishtail palm, Wart fishtail palm

ชื่ออื่น   เขืองหมู่ (ภาคเหนือ); งือเด็ง (มาเบย์-นราธิวาส); เต่าร้าง (ทั่วไป); เต่าร้างแดง (นครศรีธรรมราช); มะเด็ง ยะลา)

เต่าร้าง: ช่อดอกแยกแขนง ผลสุกสีม่วงดำ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เต่าร้างแดง
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Caryota mitis Lour.

Arecaceae

ดูที่ เต่าร้าง

เต่าร้างดอย
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Caryota maxima Blume

Arecaceae

ดูที่ เต่าร้างยักษ์

เต่าร้างยักษ์
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Caryota obtusa Griff.

Arecaceae

ดูที่ เต่าร้างยักษ์ภูคา

เต่าร้างยักษ์
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Caryota maxima Blume

Arecaceae

ปาล์มลำต้นเดี่ยว สูงได้ถึง 30 ม. ลำต้นเส้นผ่านศูนย์กลาง 25–45 ซม. ก้านใบยาว 10–50 ซม. แกนกลางใบประกอบยาว 2.5–5 ม. ใบประกอบย่อยข้างละ 15–27 ใบ ห้อยลง ใบประกอบย่อยชั้นที่สองข้างละ 15–30 ใบ ใบย่อยเรียว ยาวได้ถึง 35 ซม. ขอบจักลึก ช่อดอกมี 3–5 ช่อ ห้อยลง ก้านช่อยาว 1–1.5 ม. แกนกลางยาว 1.5–3 ม. ช่อย่อยจำนวนมาก แกนกลางยาว 1–2 ม. ดอกเพศผู้กลีบดอกยาว 1.2–1.5 มม. ดอกเพศเมียกลีบดอกยาว 6–8 มม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.5 ซม. สุกสีส้มอมแดง ส่วนมากมีเมล็ดเดียว เนื้อในเมล็ดเป็นชั้น

พบที่อินเดีย ภูฏาน พม่า จีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม คาบสมุทรมลายู ชวา และสุมาตรา ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น มักพบตามพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ความสูงถึงประมาณ 1800 เมตร

ชื่อสามัญ  Jaggery palm, Toddy palm

ชื่ออื่น   เขืองหลวง

เต่าร้างยักษ์: ปาล์มลำต้นเดี่ยว ใบประกอบย่อยและช่อดอกห้อยลง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เต่าร้างยักษ์น่าน
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Caryota obtusa Griff.

Arecaceae

ดูที่ เต่าร้างยักษ์ภูคา

เต่าร้างยักษ์ภูคา
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Caryota obtusa Griff.

Arecaceae

ปาล์มลำต้นเดี่ยวขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 40 ม. โคนต้นมีรากพิเศษหนาแน่น ลำต้นเส้นผ่านศูนย์กลาง 50–90 ซม. ช่วงกลางป่อง ก้านใบยาว 0.5–2 ม. แกนกลางใบประกอบยาว 4–6 ม. ใบแผ่กว้างคล้ายหางปลา ใบประกอบย่อยข้างละ 18–24 ใบ ใบประกอบย่อยชั้นที่สองข้างละ 20–27 ใบ ใบย่อยปลายจักแหลม ยาว 20–35 ซม. ช่อดอกห้อยลง ก้านช่อยาว 0.5–1 ม. แกนกลางยาว 2.5–4 ม. ช่อย่อยจำนวนมาก ยาว 1.2–3 ม. ดอกเพศผู้กลีบดอกยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอกเพศเมียกลีบดอกยาวประมาณ 8 มม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–3 ซม. สุกสีแดง ส่วนมากมี 2 เมล็ด เนื้อในเมล็ดเป็นชั้น

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม ในไทยพบที่ดอยภูคา จังหวัดน่าน ขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ และพบกระจายห่าง ๆ ที่เชียงราย พะเยา และอุตรดิตถ์ ขึ้นตามที่สูงชันในป่าดิบเขา ความสูง 1200–1600 เมตร

ชื่อพ้อง  Caryota gigas Hahn ex Hodel

ชื่อสามัญ  Giant mountain fishtail palm, Thai giant Caryota

ชื่ออื่น   จึก (กะเหรี่ยง-น่าน); เต่าร้างยักษ์, เต่าร้างยักษ์น่าน, เต่าร้างยักษ์ภูคา (ทั่วไป)

เต่าร้างยักษ์ภูคา: ปาล์มลำต้นเดี่ยวขนาดใหญ่ ป่องช่วงกลาง ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น แผ่กว้างคล้ายหางปลา ช่อดอกห้อยลง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Barfod, A.S. and J. Dransfield. (2013). Arecaceae. In Flora of Thailand Vol. 11(3): 387–391.

Pei, S., S. Chen, G. Lixiu, J. Dransfield and A. Henderson. (2010). Arecaceae. In Flora of China Vol. 23: 150–151.